ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีที่ผ่านมา Mark Zuckerberg ได้ออกมาประกาศสถิติใหม่ระบุว่ามียอดผู้ล็อกอิน Facebook ถึง 1 พันล้านรายในวันเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่าทึ่งอย่างมากในแง่ของธุรกิจ social media อย่างไรก็ตามก็มีคำถามว่าการที่คนเราตื่นนอนและต้องมารูดดูสิ่งต่างๆ บนหน้า feed ทุกๆ วันนั้น ทำให้มนุษย์มีความสุขขึ้นหรือไม่?
ทั้งนี้ มีผลวิจัยจาก Happiness Research Institute ได้ทำการสำรวจผ่านผู้ใช้งาน Facebook ในเดนมาร์ก 1,095 รายถึงผลกระทบและความสำคัญของ social network กับมนุษย์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีการเปิดเผยว่ามีผู้ใช้งานถึง 94% ที่ใช้งาน Facebook เป็นประจำทุกวัน โดยทีมวิจัยได้แบ่งทดสอบกลุ่มตัวอย่างไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มคนที่ใช้ Facebook เป็นประจำทุกวันตามปกติ ขณะที่กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่ลบบัญชี Facebook และหยุดใช้งานเป็นเวลา 1 สัปดาห์
โดยผลสำรวจที่ออกมาพบว่า มีถึง 88% ของบุคคลจากกลุ่มตัวอย่างที่ 2 (ปิด Facebook) นั้นเปิดเผยว่าพวกเขามีรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ในขณะกลุ่มแรกที่ใช้งาน Facebook ทุกวันนั้นรู้สึกเฉยๆ 81% ซึ่งแน่นอนว่าสาเหตุที่ทำให้คนกลุ่ม 2 มีความสุขมากขึ้นเนื่องจากพวกเขาไม่ต้องรู้สึกอิจฉาเมื่อต้องเห็นภาพชีวิตด้านดีเวอร์ของคนอื่นบนหน้า feed ที่ทำให้ผู้คนในสังคมหันมามองกับสิ่งที่คนอื่น ‘มี’ แต่กลับลืมไปว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของแต่ละคน
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ทดลองที่หยุดเล่น Facebook นั้นก็เปิดเผยว่าพวกเขารู้สึกกระตือรือร้นมากขึ้น เหงาน้อยลง ตัดสินใจได้เด็ดขาดและลดความกังวลไปได้มากขึ้น เมื่อมีเวลาให้กับครอบครัวและเพื่อนฝูงเพื่อพบปะกันต่อหน้า รวมทั้งยังทำงานที่วางแผนไว้ได้เร็วมากขึ้นเพราะมีสมาธิจดจ่อกับงานตรงหน้านั่นเอง ซึ่งทางด้านซีอีโอของ Happiness Research ก็ให้สัมภาษณ์กับทาง The Guardian ว่า บนโลกของ Facebook นั้น ทุกคนพยายามอวดด้านดีที่สุดของตัวเอง แต่ส่วนใหญ่ก็กลับมีชีวิตความเป็นอยู่หรือความรู้สึกนึกคิดที่สวนทางกับภาพที่แต่งแต้มออกมา ทำให้ทางสถาบันวิจัยเกิดไอเดียที่จะทำการวิจัยดังกล่าวขึ้นเพื่อดูความแตกต่างของความสุขเมื่อคนเราไม่ได้เล่น social network
‘ทุกครั้งเวลาที่ตื่นขึ้นมาหรือก่อนเข้านอน ฉันจะนอนเช็คหน้า feed บน Facebook เสมอเหมือนใครหลายคน อันที่จริงฉันกังวลเหมือนกันที่เข้าร่วมการทดสอบครั้งนี้และต้องปิด Facebook ไป แต่หลังจากผ่านไปหลายวันฉันก็สังเกตว่าสิ่งที่ฉันทำ To-do-List เอาไว้นั้นมันเสร็จได้เร็วขึ้นมากๆ แถมยังรู้สึกใจเย็นลงเมื่อไม่ต้องเปิด Facebook ตลอดเวลาเหมือนก่อน’ Sophie Anne Dorney หนึ่งในอาสาสมัครกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่าทางทีมสถาบันวิจัยก็คิดที่จะขยายระยะเวลาการสำรวจออกไปอีกเป็น 1 ปี ซึ่งพบว่ายังเป็นเรื่องยากที่จะหาอาสาสมัครที่ยินยอมจะเลิกเล่น Facebook ถึง 1 ปีได้ในตอนนี้
ที่มา : bgr / sciencealert