บ็อกดาน คูลินิช (Bogdan Kulynych) นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยอีพีเอฟแอลในสวิตเซอร์แลนด์ได้รับเงินรางวัลจากทวิตเตอร์เป็นจำนวน 3,500 เหรียญ (ประมาณ 116,000 บาท) หลังจากที่พิสูจน์ได้ว่าอัลกอริทึมที่ใช้ในการ crop รูป (Image-cropping algorithm) ตัวอย่างที่ปรากฎบนหน้าไทม์ไลน์โดยอัตโนมัติของทวิตเตอร์
มีความลำเอียงต่อสีผิว อายุ และลักษณะใบหน้าของคนในภาพ ในงานประชุม DEFCON ที่จัดขึ้น ณ นครลาส
เวกัส ในสหรัฐอเมริกา
โดยคูลินิชได้ทดลองสร้างใบหน้าคนเสมือนจริงที่มีความแตกต่างทางสีผิว อายุ และรูปทรงใบหน้า โดยให้แต่ละใบหน้ามีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยไปจนถึงแตกต่างมากเพื่อทดสอบการทำงานของอัลกอริทึม crop รูปภาพของทวิตเตอร์
ผลปรากฎว่าอัลกอริทึมฯ มักจะเลือกโฟกัสใบหน้าของคนที่ขาวกว่า อายุน้อยกว่า และใบหน้ามีความกระชับหรือเต่งตึงกว่า นอกจากนี้ จากการทดสอบเพิ่มเติมโดยนักวิจัยภายในทวิตเตอร์ก็พบอีกว่าอัลกอริทึมฯ ดังกล่าวมักจะเลือกโฟกัสหน้าผู้หญิงมากกว่าผู้ชายด้วย
ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว มีผู้ใช้ทวิตเตอร์วิจารณ์ว่าอัลกอริทึมฯ ดังกล่าวมักเลือกโฟกัสหน้าคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำ โดยทวิตเตอร์ได้ออกมาขอโทษ และประกาศจะมอบเงินรางวัลให้กับผู้ใดก็ตามที่สามารถพิสูจน์ความผิดพลาดของอัลกอริทึมฯ ได้
ที่มา The Guardian
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส