อี แจยอง (Lee Jae Yong) อดีตรองประธานและบุตรของอดีตประธานซัมซุง จะได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดภายใต้ทัณฑ์บนในวันที่ 13 สิงหาคมนี้ หลังจากรับโทษมาแล้ว 6 เดือน จาก 30 เดือน ตามคำพิพากษาในคดีติดสินบนอดีตประธานาธิบดีในปี 2560 โดยถือเป็นการปล่อยตัวก่อนกำหนดครั้งที่ 2
นักวิเคราะห์บางส่วนเชื่อว่าเหตุผลของการปล่อยตัวครั้งนึ้ อาจเป็นผลมาจากการกดดันอย่างหนักของกลุ่มธุรกิจสหรัฐอเมริกา โดยในเดือนพฤษภาคม หอการค้าสหรัฐอเมริกัน (American Chamber of Commerce – AMCHAM) ได้มีจดหมายไปยัง มุน แจอิน (Moon Jae-In) ประธานาธิบดีของเกาหลีใต้ขอให้พิจารณาอภัยโทษ
‘ผู้บริหารที่สำคัญที่สุดของซัมซุง’ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสหรัฐฯ และเกาหลีใต้
เนื่องจาก ซัมซุงได้วางแผนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเทอร์ (semiconductor) ในสหรัฐฯ
และมีแผนจะตั้งโรงงานในหลายรัฐ ถือเป็นการสนับสนุนแผนการมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญ (ประมาณ 1.66 ล้านล้านบาท) ของรัฐบาล โจ ไบเดน (Joe Biden) เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนชิป
อย่างไรก็ดี พัค บอมคเย (Park Beom-Kye) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ออกมาชี้แจงว่าการปล่อยตัวในครั้งนี้ ก็เพราะ อี แจยอง มีทัศนคติที่ดี และเป็นการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิด – 19
ทั้งนี้ อี แจยอง ถูกพิพากษาจำคุกในปี 2560 เป็นเวลา 5 ปี ด้วยคดีติดสินบนพัค กึนเฮ (Park Geun-Hye) อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้และพวกพ้องด้วยเงินและม้า เพื่อขอรับการสนับสนุนการควบรวมกิจการ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับซัมซุง หากสำเร็จจะทำให้ อี แจยอง ได้ครองหุ้นภายใต้บริษัท Samsung Electronics มากขึ้น
เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าครองบริษัทต่อจากบิดาท่ี่ป่วยด้วยโรคหัวใจในปี 2557 ก่อนจะเสียชีวิตลงในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งทำให้อี แจยอง ในฐานะบุตรชายคนเดียว มีสิทธิ์จะได้ก้าวเข้าไปเป็นผู้คุมบริษัทแทน ก่อนจะรับการปล่อยตัวก่อนกำหนดครั้งแรกภายใต้ทัณฑ์บนในปี 2562 โดยในปีเดียวกัน ศาลได้มีการไต่สวนคดีใหม่และพิพากษาให้เขากลับไปเข้าคุกอีกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ที่มา Tom’s Hardware, Bloomberg
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส