Counterpoint Research ได้ปรับการประมาณการยอดขนส่งสมาร์ตโฟนทั่วโลกในปีนี้ลงจากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ จากในตอนแรกที่คาดว่าจะมียอดขนส่ง 1,447 พันล้านเครื่องในปี 2021 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9% แต่เพราะวิกฤติขาดแคลนชิป จึงมีเปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เหลือ 1,414 พันล้านเครื่อง หรือเพิ่มขึ้น 6% แทน
การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์เริ่มต้นขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2020 และยังคงเป็นปัญหามาจนถึงปัจจุบัน ทางฝั่งผู้ผลิตชิปจำเป็นต้องนำวัตถุดิบส่วนสุดท้ายมาใช้ในการผลิต ส่วนทางบริษัทที่เป็นลูกค้าก็ได้รับส่วนประกอบที่สั่งซื้อเพียงแค่ 80% ของจำนวนที่สั่งในไตรมาสที่ 2 และลดลงเหลือ 70% ในไตรมาสที่ 3
Counterpoint Research ระบุว่า 90% ของอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนต่างได้รับผลกระทบจากการขาดแคลน อย่างไรก็ตามในปีนี้อุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนก็ยังคงเติบโตจากปี 2020 อยู่ดี
การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของทุกแบรนด์ Samsung, oppo, Xiaomi ต่างได้รับผลกระทบ และเราได้ปรับลดการคาดการณ์ลง แต่ดูเหมือนว่า Apple จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากสถานการณ์การขาดแคลนชิป
ทอม คัง (Tom Kang) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Counterpoint Research
ด้วยความที่ Apple เป็นลูกค้าเจ้าใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิป Apple จึงได้รับการดูแลเป็นพิเศษจาก TSMC ซึ่งไม่ได้พิเศษแค่เฉพาะด้านการจัดส่งสินค้า แต่มีเรื่องอื่น ๆ ด้วย เช่น เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคม TSMC จะเพิ่มราคาสินค้าอีก 20% ในขณะที่สินค้าที่ขายให้ Apple จะมีราคาเพิ่มขึ้นแค่ 3% เท่านั้น
ถึงแม้ Apple จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติชิปน้อยที่สุด แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ดี โดย Apple ออกมายอมรับว่า ผลิตภัณฑ์อย่าง iPad และ Mac นั้นเป๋็นสินค้าที่ได้รับผลกระทบสถานการณ์ดังกล่าว
“การขาดแคลนชิปส่งผลกระทบต่อ Mac และ iPad เป็นหลัก เราประมาณการว่า จะเกิดผลกระทบมูลค่า 3,000 ถึง 4,000 ล้านเหรียญ แต่เราสามารถบรรเทาปัญหาบางส่วนได้ ทำให้เราได้รับผลกระทบในตัวเลขฝั่งที่ต่ำจากการประมาณการ” ทิม คุก (Tim Cook) กล่าว
ในขณะเดียวกันทางด้านบริษัทคู่แข่งอย่าง Google กลับต้องจำใจตัดการขนส่ง Pixel 5a ในอเมริกาและญี่ปุ่น และเรายังไม่ทราบว่า Pixel 6 จะได้รับผลกระทบต่อไปอีกหรือไม่
อ้างอิง: PhoneArena
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส