วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน สตาร์ลิงก์ (Starlink) แผนกพัฒนาและให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียมของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้จดทะเบียนธุรกิจในอินเดียในชื่อ Starlink Satellite Communications Private Limited เพื่อเตรียมเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งเปิดเผยโดย ซันเจย์ ภาร์กาวา (Sanjay Bhargava) ผู้อำนวยการสตาร์ลิงก์ (Starlink) ในอินเดีย
บริษัทที่จดทะเบียนในอินเดียจะช่วยให้สตาร์ลิงก์สามารถยื่นขอใบอนุญาต เปิดบัญชีธนาคารและอื่น ๆ ต่อหน่วยงานรัฐของอินเดียก่อนที่จะเปิดให้บริการต่าง ๆ ซึ่งตามเอกสารจดทะเบียนบริษัทเผยว่าจะดำเนินธุรกิจด้านบริการโทรคมนาคม ได้แก่ อินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม การจัดเก็บและสตรีมเนื้อหา การสื่อสารมัลติมีเดีย และอื่นๆ รวมถึงการจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม อุปกรณ์เครือข่าย อุปกรณ์สื่อสารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย ตลอดจนอุปกรณ์รับและส่งข้อมูล
ก่อนหน้านี้สตาร์ลิงก์เผยว่าจะมุ่งเน้นการเร่งความเจริญก้าวหน้าให้กับชนบทในอินเดียผ่านบริการบรอดแบนด์ โดยเมื่อได้รับอนุญาตการให้บริการ ในเฟสแรกบริษัทจะมอบอุปกรณ์รับสัญญาณฟรี 100 เครื่องให้แก่โรงเรียนในเดลีและเขตชนบทที่อยู่ใกล้เคียง จากนั้นจะไปต่อที่ 12 เขตชนบททั่วอินเดีย
บริษัทมีแผนจะให้บริการในอินเดียด้วยอุปกรณ์รับสัญญาณ 200,000 เครื่องภายในเดือนธันวาคม 2022 โดยสัดส่วน 80% จะอยู่ในเขตพื้นที่ชนบท ซึ่งตอนนี้ได้มียอดพรีออร์เดอร์อุปกรณ์ในอินเดียแล้วกว่า 5,000 ราย
สตาร์ลิงก์เป็นเครือข่ายดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลกสำหรับให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตที่มีความหน่วงแฝงต่ำ ณ วันที่ 27 ตุลาคมได้ปล่อยดาวเทียมไปแล้วทั้งหมด 1,791 ดวง อยู่ในวงโคจร 1,669 ดวงและทำงานอยู่ทั้งหมด 1,646 ดวง
สตาร์ลิงก์ได้เริ่มทดสอบให้บริการก่อนใช้งานจริงในสหรัฐฯ ตั้งแต่ตุลาคม 2020 ต่อมาเดือนมิถุนายนเผยว่าได้ขยายการทดลองใช้งานใน 11 ประเทศ และเมื่อปล่อยดาวเทียมได้ 1,800 ดวงก็จะสามารถเปิดให้บริการได้ทั่วโลกในเดือนกันยายน จากนั้นเผยว่าจะเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ (ไม่ใช่ทดลองใช้งาน) ได้ในเดือนตุลาคม
สตาร์ลิงก์มีคู่แข่งอยู่ 2 ราย คือ OneWeb ที่เป็นเจ้าของโดยรัฐบาลอังกฤษและ Bharti Global ของอินเดีย ซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในพื้นที่แถบอาร์กติกในปลายปี 2021 และขยายสู่ทั่วโลกในปี 2022 ส่วนคู่แข่งอีกรายก็คือ โครงการ Kuiper ของแอมะซอน (Amazon) ซึ่งมีแผนจะปล่อยดาวเทียมอินเทอร์เน็ตดวงแรกในปลายปี 2022
ที่มา : reuters
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส