หากเราต้องการแบ็คอัพข้อมูล ทั้งรูปภาพ เพลง หรือวีดีโอ ตัวเลือกของเราก็จะมี แผ่น CD, DVD, Blu-Ray หรือพวกฮาร์ดดิสก์ ทั้งจากคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คอมพิวเตอร์พกพา อุปกรณ์พกพาต่างๆ หรือ External Harddisk หรือพวก Flash Drive ทั้งหลาย แต่ถ้าเราต้องการพื้นที่ที่มีมากกว่าสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดละ จะทำอย่างไร นี่เป็นอีกข่าวดีที่ใครหลายคนรอคอย กับเทคโนโลยีใหม่ ที่จะทำให้เราสามารถเก็บข้อมูลของเราได้ยาวนานขึ้น

5dglass

ผู้คิดค้นเทคโนโลยีใหม่นี้ก็คือ นักวิทยาศาสตร์จาก Optoelectronics Research Centre (ORC) โดย University of Southampton ซึ่งได้พัฒนาพื้นที่จัดเก็บที่เป็นอีกก้าวหนึ่งของการจัดเก็บไฟล์ดิจิทัล คือ ดิสก์แก้ว ที่สามารถเก็บไฟล์ได้ยาวนานเป็นพันล้านปี โดยใช้วิธีจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ขนาดใหญ่บนดิสก์แก้ว เขียนด้วย femtosecond laser (เลเซอร์ที่ยิงเป้นช่วงสั้นๆ 1 Femtosecond คือ 0.000000000000001 วินาที; ข้อมูลจาก Laser Vision) แบบ 5 มิติ เพราะนอกจากตำแหน่งที่เขียนแล้ว ยังนำขนาดและทิศทางมาใช้ด้วย

Play video

ดิสก์แก้วนี้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ถึง 360 เทราไบต์ สามารถคงทนได้สูงสุดถึง 1,000 องศาเซลเซียส และสามารถเก็บข้อมูลได้นานถึง 13.8 พันล้านปีในอุณหภูมิห้อง (สูงสุด 190 องศาเซลเซียส) นี่เป็นการค้นพบวิธีใหม่ ถือได้ว่าเป็นยุคใหม่ของการจัดเก็บข้อมูลที่สามารถเก็บได้ยาวนานไม่จำกัด ซึ่งสามารถใช้ได้กับพิพิธภัณฑ์ ศูนย์จัดเก็บเอกสาร หรือห้องสมุด สถานที่เหล่านี้เป็นคลังข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการจัดเก็บทั้งเอกสาร โบราณวัตถุ หรือหนังสือที่ต้องมีการจัดเก็บที่ยาวนาน เทคโนโลยีนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการจัดเก็บของเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

16_23 UN_UDoHR.png_SIA_JPG_background_image

แผ่นดิสก์แก้ว บรรจุเอกสารปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

ทางนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดสอบการจัดเก็บเอกสารสำคัญ เช่น เอกสารปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights (UDHR)), มหากฏบัตร (Magna Carta) และพระคัมภีร์ฉบับ King James  ลงไปในดิสก์ของแต่ละส่วน เอกสารเหล่านี้เป็นเหมือนการทดสอบเพื่อความอยู่รอดของมนุษยชาติเลยทีเดียว

นักวิจัยกำลังมองหาบริษัทที่เหมาะสมที่จะนำเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลนี้ลงสู่ท้องตลาด นี่คือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น และสิ่งนี้ควรเข้าถึงกลุ่มช่างภาพที่ต้องการเก็บคลังภาพไว้ในดิสก์แก้วนี้ ที่สามารถการันตีได้ว่าจะอยู่กับเราไปได้นานจนถึงลูกหลานหลายชั่วอายุคนได้เลย

ที่มา: PetaPixel / University of Southampton