หลังจากที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ตอัป เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง
ด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค

เมื่อวานนี้ ช่วงเวลา 13.30 น. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวการร่วมมือกันในรูปแบบออนไลน์กับนายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์

นายศุภชัยกล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่มเทเลนอร์ครั้งนี้ ถือเป็นการปรับโครงสร้างทางธุรกิจโทรคมนาคมใหม่ เพื่อก้าวสู่การเป็นเทคคอมปะนี เนื่องจากสภาพตลาดโทรคมนาคมเปลี่ยนไป ซึ่งกลุ่มทรูตระหนักดีว่าเทคโนโลยีมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของทุก ๆ อุตสาหกรรม

ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ มีเป้าหมายในการสร้าง Eco-system ด้านการลงทุนในทุกมิติ ทั้งดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม คลาวด์ เทคโนโลยี ระบบนิเวศด้านการลงทุน ซึ่งการตั้งบริษัทใหม่ระหว่างทรูกับดีแทคครั้งนี้ จะตั้งกองทุนประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขึ้น เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ และเทคสตาร์ตอัปไทย รวมถึงเทคสตาร์ตอัปที่ตั้งอยู่ในไทยด้วย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไป

นายซิคเว่ เบรกเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า “ผมเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับมาอยู่ตรงนี้ร่วมกับคุณศุภชัย เจียรวนนท์ (ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)) และการกลับมาเมืองไทย เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ที่ประเทศไทย เราได้มีเติบโตในหลายด้าน ในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ”

อย่างไรก็ตามสำหรับอนาคต 20 ปีข้างหน้า เมื่อธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติเทคโนโลยี ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้า และธุรกิจต้องการตอบสนองต่อการใช้งานทั้งต่อภาครัฐและผู้บริโภค 65 ล้านคนในประเทศไทย

โดยความร่วมมือกันครั้งนี้ เราจะแสวงหาการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง การลงทุนด้านนวัตกรรมระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการให้บริการใหม่ ๆ ที่แข็งแกร่งแก่ผู้บริโภค โดยเราคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 217,000 ล้านบาท และหวังจะได้เห็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการร่วมกันนี้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจ ต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านอินเทอร์เน็ต ดาต้า และการเชื่อมผู้บริโภคชาวไทยสู่สังคมดิจิทัลอนาคต

“นี่คือการริเริ่มของความร่วมมือ และเราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าความร่วมมือนี้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และเราจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐไทย ในเรื่องนี้ต่อไป” นายซิคเว่กล่าว

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส