โดยปกติแล้วเมื่อเข้าสู่เดือนตุลาคมประชาชนชาวจีนจะเข้าสู่ช่วงวันหยุด แต่โรงงานอย่าง Foxxconn, Pegatron และอื่น ๆ ที่เป็นซัปพลายเออร์ของ Apple จะต้องเร่งทำงาน 24 ชั่วโมง เพื่อส่งชิ้นส่วนไปประกอบ iPhone ให้ทันความต้องการช่วงวันหยุดยาว
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในปี 2021 กลับเปลี่ยนไป เพราะพนักงานกลับได้หยุดงานแทนที่จะต้องทำงานล่วงเวลาอย่างปกติ นับเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่การผลิต iPhone และ iPad ต้องหยุดชะงักเป็นเวลาหลายวัน เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบและชิปที่เพียงพอ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่บริษัทจะต้องเสียเงินเพิ่มเติมไปกับค่าล่วงเวลาโดยไม่ได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ออกมานั่นเอง
หลังจากการเปิดตัว iPhone 13 และ iPad ในเดือนกันยายน Apple กลับไม่สามารถผลิตสินค้าได้ตามที่วางแผนเอาไว้ ทำให้บริษัทพลาดรายได้ไปหลายพันล้านเหรียญ และส่งผลกระทบมาถึงปัจจุบันที่ทำให้ผู้บริโภคจะไม่สามารถซื้อ iPhone และ iPad เพื่อเป็นของขวัญได้ทันเทศกาลวันหยุด
แม้ Apple จะจัดลำดับความสำคัญของส่วนประกอบเพื่อการผลิต iPhone 13 แต่ในเดือนกันยายนและตุลาคมกำลังการผลิต iPhone 13 กลับต่ำกว่าแผนถึง 20% ในขณะที่ iPad กลับยิ่งวิกฤติ เพราะสามารถผลิตได้เพียง 50% ของจำนวนที่วางแผนไว้เท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลให้ Apple ต้องจำใจปรับลดเป้าการผลิตลงกว่า 10 ล้านเครื่อง
สาเหตุของปัญหานั้นมาจากวิกฤติทั่วโลกหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนส่งผลเป็น butterfly effect และกระทบมาถึงห่วงโซ่การผลิตของ Apple ยกตัวอย่างเช่น iPhone 13 Pro Max ที่ได้รับผลกระทบจากข้อจำกัดการใช้พลังงานของจีนอย่างไม่คาดคิด, การล็อกดาวน์ในมาเลเซีย/เวียดนาม, ความต้องการที่เพิ่มขึ้นมหาศาลและกระบวนการผลิตที่เกิดปัญหาคอขวดจากกระแสที่เพิ่มขึ้นของการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และการปรับราคาหรือระยะเวลาการสั่งซื้อจากการจัดสรรค์ชิปที่ไม่ลงตัว เป็นต้น
แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดนั้นเกิดจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการอย่างรุนแรง เช่น ชิปสำหรับการจัดการพลังงานจาก Texas Instruments, ตัวรับส่งสัญญาณ (transceiver) จาก Nexperia และชิปสำหรับการเชื่อมต่อ (Connectivity chip) จาก Broadcom ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญกับสินค้าไฮเทคต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ รถยนต์ หรือเครื่องใช้ในบ้าน
ต่อให้คุณมีส่วนประกอบ 99% พร้อมอยู่ในมือ แต่ถ้าคุณขาดส่วนประกอบไปแค่ 2 หรือ 3 ชิ้น มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประกอบผลิตภัณฑ์ให้เสร็จขั้นสุดท้าย
อ้างอิง: Nikkei
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส