เรื่องแบตเตอรี่อาจจะไม่ใช่ประเด็นยอดฮิตที่มีการพูดถึงโดยทั่วไป แต่เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งกับอุปกรณ์ไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยเฉพาะแบตลิเธียมไอออนที่มีการพัฒนาขึ้นในทุก ๆ ปี และบริษัทต่าง ๆ เช่น Xiaomi ก็ให้ความสำคัญอย่างมากเพื่อที่จะพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีความจุมากขึ้นในขณะที่มีขนาดเท่าเดิม
ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา การศึกษาจาก MIT เผยว่า ราคาของแบตลิเธียมไอออนนั้นลดลงถึง 97% เมื่อเทียบกับการเปิดตัวเชิงพาณิชย์ในปี 1991 การที่ต้นทุนลดลงอย่างมากถือเป็นผลดีสุด ๆ สำหรับอุตสาหกรรมสมาร์ตโฟนและรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงทำให้พลังงานโซลาร์ (พลังงานแสงอาทิตย์) สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น
แม้ว่าความหนาแน่นของพลังงานในเซลล์ลิเธียมไอออนจะเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว แต่อัตราการพัฒนากลับลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการพัฒนามากขึ้นประมาณ 5% ต่อปี
ในวงการสมาร์ตโฟน บริษัทผู้ผลิตพยายามออกแบบสมาร์ตโฟนให้ใหญ่ขึ้นเพื่อใส่แบตเตอรี่ขนาดใหญ่ที่ทำให้ระยะเวลาการใช้งานเพิ่มมากขึ้น ในเวลาเดียวกันผู้ผลิตได้เริ่มใช้แร่ซิลิคอน (Silicon) ในขั้วบวกของแบตเตอรี่มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเรื่องความหนาแน่นของพลังงานแล้วยังส่งผลให้ราคาและความซับซ้อนในการออกแบบเพิ่มสูงขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่บริษัทผู้ผลิตตัดสินใจไม่เพิ่มสัดส่วนซิลิคอน
ล่าสุด XIaomi ระบุว่า บริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่แบบใหม่สำหรับสมาร์ตโฟนในอนาคต โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้ความจุเพิ่มขึ้น 10% ในขณะที่มีขนาดเท่าเดิม โดย Xiaomi จะใช้ซิลิคอนในสัดส่วนที่มากกว่าเจ้าอื่น ๆ (ทั่วไปใช้ 3% ถึง 5%) ถึง 3 เท่า
ไม่เพียงเท่านั้นแบตเตอรี่แบบใหม่จะใช้ชิปที่เรียกว่า ‘Fuel Gauge’ เพื่อให้การทำงานของแบตเตอรี่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะขั้วแอโนด (anode) มีแร่ซิลิคอนมักจะขยายตัวในระหว่างการชาร์จและหดตัวเมื่อเลิกชาร์จ
Xiaomi กล่าวว่า เทคโนโลยีนี้จะทำให้เราสามารถใช้งานสมาร์ตโฟนได้นานขึ้นประมาณ 100 นาที ซึ่งจริง ๆ แล้วตัวเลขก็อาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามปัจจัยอื่น ๆ เช่น ประสิทธิภาพของชิปประมวลผล อัตรารีเฟรชของหน้าจอ และการใช้งานของผู้ใช้ เป็นต้น
อ้างอิง: Techspot
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส