จากข่าวเผยการประมูลรอบใหม่ 24 มิ.ย. นี้ ล่าสุดทาง Advanced Wireless Network หรือ AWN บริษัทย่อยของ AIS ได้มีข้อเสนอให้ทาง กสทช. ว่า ทาง AIS จะยอมซื้อต่อคลื่น 900MHz เป็นจำนวนเงินเท่ากับที่ทาง JAS Mobile Broadband ประมูลได้ งานนี้เราอาจไม่ได้เห็นการประมูลคลื่นความถี่ที่มีราคาเริ่มต้นสูงที่สุดในโลกก็เป็นได้..
โดย AIS นั้นยินดีรับคลื่นช่วง 900MHz ที่ทาง JAS ประมูลได้ไปที่ 75,654 ล้านบาทโดยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของผู้ชนะการประมูลทุกประการ ทั้งการผ่อนจ่าย 4 งวด รวมไปถึงการนำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินชั้นนำมามอบให้ ซึ่งทั้งนี้ทาง AIS ก็ขอให้ทาง กสทช. ช่วยหามาตรการป้องกันคลื่นรบกวนเนื่องจากคลื่นในย่านนี้มีบางส่วนอยู่ในย่าน Guard Band เก่า 2.5MHz (และติดกับทาง Dtac ที่คลื่น 850MHz) ข้อมูลจาก กสทช. รวมไปถึงการคุ้มครองลูกค้า 2G เดิมของ AIS บนคลื่น 900MHz กว่า 400,000 เลขหมาย และกลุ่มที่ใช้เครือข่ายร่วมอีกกว่า 7.8 ล้านเลขหมายที่จะหมดเขตคุ้มครองภายในวันที่ 14 เมษายนนี้ ให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้ซิมดับ
ซึ่งหลังจากที่ทาง กสทช. ได้รับทราบแล้วก็ได้ให้ข้อมูลว่า ทาง กสทช. จำเป็นต้องทำเรื่องให้ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติ เนื่องจากทาง กสทช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการแต่อย่างใด รวมไปถึงหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีผู้ประมูลเลยแม้แต่รายเดียวในการประมูลครั้งถัดไป ประเทศชาติก็จะสูญเสียรายได้มหาศาลเพราะต้องเก็บคลื่นเอาไว้อีกอย่างน้อย 1 ปีจึงจะสามารถนำมาประมูลอีกครั้งได้
ซึ่งครั้งนี้ถ้า กสทช. อนุมัติเรียบร้อย ทาง AIS ก็จะขอประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อสรุปก่อนภายในระยะเวลา 2 เดือน (ประมาณเดือนมิถุนายน) เพื่อขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นก่อน จึงจะสามารถชำระเงินค่าประมูลได้
เชื่อว่าในอีกไม่กี่วันนี้พวกเราน่าจะได้เห็นบทสรุปของการประมูลคลื่นในครั้งนี้อย่างแน่นอนว่าจะประมูลหรือ AIS จะได้ไปในราคาเดียวกับที่ JAS ประมูลกันแน่ ? และถือว่าเป็นการย้ำให้เห็นว่ามูลค่าของคลื่น 900MHz ที่ถูกประมูลไปนั้นมีราคาที่ไม่สูงจนเกินไป รวมไปถึงหาก AIS ได้คลื่น 900MHz ไปก็จะมีคลื่นอยู่ในมือถึง 3 ย่านความถี่คือ 900MHz, 1800MHz และ 2100MHz ซึ่งจะสามารถให้บริการครอบคลุมทั่วไทยได้อย่างแน่นอน
อัพเดทเพิ่มเติมจากผู้สื่อข่าว Thai PBS ว่า นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ขอตัดสิทธิ์ของ TRUE MOVE H ในการประมูลคลื่น 900MHz เพราะทางที่ประชุมพิจารณาแล้วว่าทาง TRUE มีคลื่น 900MHz อยู่แล้ว 1 ใบ จึงไม่ควรถือครองใบอนุญาตคลื่น 900MHz อีก
และในส่วนของการประมูลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายนนี้นั้นทางบอร์ดมีมติให้ตั้งราคาตามที่ทาง JAS ประมูลครั้งสุดท้ายคือ 75,654 ล้านบาท กำหนดการวางเงินหลักประกันที่ 5% ของราคาตั้งต้น หรือ จำนวน 3,783 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มต่อรอบ 152 ล้านบาท กรณีทิ้งใบอนุญาต เกิดความเสียหายต่อกสทช. จะต้องรับผิดชอบความเสียหาย 20% ของราคาตั้งต้น หรือ จำนวน 15,131 ล้านบาท
และในส่วนของการอนุมัติเรื่องข้อเสนอจาก AIS นั้น ทาง กสทช. จะนำส่งหนังสือแสดงความจำนงค์ของเอไอเอส พร้อม บทวิเคราะห์ ข้อดี และ ข้อเสีย และจะเสนอความเห็นทางกฏหมายเพื่อให้หัวหน้า คสช. พิจารณาภายในวันศุกร์นี้ เพื่อให้ทันกำหนด 14 เมษายน 2559 โดยระบุด้วยว่า หาก นายกฯ ใช้ ม.44 ทางบริษัท ทรูฯ ก็จะได้สิทธิ์เข้าร่วมเสนอราคาด้วย แต่จะต้องให้สิทธิ์ เอไอเอสในฐานะ ผู้เสนอราคารายแรกก่อน และจะพิจารณาตามลำดับการเสนอราคาเมื่อครั้งมีการประมูล และแน่นอนว่าหากใช้อำนาจตามมาตรา 44 อนุมัติการขอซื้อใบอนุญาต ตามคำขอของ AIS ก็ยกเลิกการประมูลในวันที่ 24 มิถุนายนไปโดยปริยาย
ข้อมูลเพิ่มเติมจากทาง DTAC ได้ให้เหตุผลว่า ทาง DTAC อยู่ในสถานะผู้ถือครองคลื่นความถี่สำหรับให้บริการที่แข็งแกร่งมากถึง 50MHz โดยบริษัทฯ มั่นใจเป็นอย่างยิ่งที่จะได้คลื่นตามแผนที่ต้องการในการประมูลคลื่นประมาณปี พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ จากกรณีที่ AIS มีความประสงค์จะจ่ายค่าใบอนุญาตตามราคาของแจสเพื่อครอบครองคลื่น 900 MHz นั้น ดีแทคยังไม่ได้รับการแจ้งเป็นทางการจาก กสทช. ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะนำไปพิจารณาในที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทฯ ก่อนที่จะแจ้งให้ทราบต่อไป