การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งที่สอง ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยเป็นทางเอไอเอสที่ส่งบริษัทลูกอย่าง เอดับบลิวเอ็น เข้าร่วมประมูลเพียงเจ้าเดียว ซึ่งเคาะยื่นยันราคาที่ 75,654 ล้านบาท และในขั้นตอนถัดไป ทางเอไอเอสจะต้องชำระเงินค่าประมูลในงวดแรก ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งตรงกับวันสุดท้ายของแผนเยียวยาป้องกันซิมดับ
การประมูลครั้งนี้ใช้เวลา 35 นาที โดยมี AIS เป็นผู้เข้าร่วมประมูลรายเดียว ยืนยันเคาะราคาครั้งแรก และไม่เคาะในครั้งที่สอง ทำให้จบลงที่มูลค่า 75,654 ล้านบาท ส่วนกรณีของแจสโมบายนั้น ทางกสทช. ได้แถลงว่า จะมีการส่งฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหาย และค่าใช้จ่ายในการประมูลต่อไป
เอไอเอส มั่นใจ คลื่น 900 MHz มาพร้อมศักยภาพ เสริมเครือข่ายดิจิทัลให้แข็งแกร่ง รองรับนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์
หลังจากประมูลคลื่น 900 MHz ได้แล้ว AIS มีแถลงการณ์ออกมาดังนี้
เอไอเอส ประกาศยืนยันความมั่นใจและคุ้มค่าทั้งทางด้านธุรกิจและประโยชน์ของส่วนรวม หลังได้คลื่น 900 MHz พร้อมส่งมอบบริการที่เป็นเลิศและเต็มประสิทธิภาพ เร็ว แรง ทะลุ ทุกข้อจำกัด ให้แก่ลูกค้าทุกพื้นที่ทั่วไทย ส่งผลให้เครือข่ายเอไอเอสแข็งแกร่ง ติดปีกให้เศรษฐกิจไทยพุ่งทะยาน เสริมศักยภาพโครงข่ายพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้แข็งแกร่งรับการเติบโตดิจิทัลไทยแลนด์
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “ตามที่ กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลคลื่น 900 MHz ในช่วงที่ผู้ชนะการประมูลรายหนึ่งไม่มาชำระเงินขึ้น และเอไอเอสเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ดังกล่าว ด้วยมูลค่า 75, 654 ล้านบาท นั้น บริษัทฯ ยืนยันว่าการเข้าประมูลคลื่น 900 MHz ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้วในทุกด้าน ทั้งในเรื่องของผลตอบแทนทางการเงิน ซึ่งบริษัทฯได้จ้างที่ปรึกษามาพิจารณา และผ่านการอนุมัติของคณะกรรมการบริหารของบริษัทแล้ว โดยเราเชื่อมั่นว่า คลื่น 900 MHz จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการ และการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทยในระยะยาว เนื่องจากเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตไร้สายนั้น นับเป็นอนาคตของการก้าวไปข้างหน้าทั้งในส่วนของบริษัท และประเทศ การได้มาซึ่งคลื่น 900 MHz ของเอไอเอส จึงจะเป็นการต่อยอดความแข็งแกร่งของเครือข่ายไร้สายของเอไอเอส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพการใช้งานของลูกค้า และการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย อันเนื่องมาจากขีดความสามารถของเอไอเอส และนโยบายสร้างการเติบโตร่วมกับพันธมิตรตามหลัก Ecosystem ที่จะทำให้เราสามารถพัฒนาบริการดิจิทัลใหม่ๆ อาทิ Internet of Things ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และประโยชน์สาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ห่างไกล อาทิ การบริหารจัดการน้ำ หรือ ระบบสื่อสารในชนบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“โดยคลื่นความถี่ 900 MHz จะช่วยให้การพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการการใช้สมาร์ทโฟนและอินเตอร์เน็ตบนมือถือ ที่กำลังขยายตัวสู่ประชาชนในพื้นที่ต่างจังหวัดห่างไกลอย่างมาก ทั้งในแง่การขยายความครอบคลุมและการขยายปริมาณการรองรับการใช้งาน เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ต่ำที่สามารถกระจายสัญญาณได้อย่างกว้างไกล เมื่อผนวกเข้ากับคลื่นความถี่ 2100 MHz และ 1800 MHz ที่มีอยู่ ก็จะยิ่งทำให้เอไอเอส เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง มีคุณภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างยิ่ง”
“นอกจากนี้ บริษัทฯ จะยังคงสามารถดูแลผู้ใช้บริการที่ยังใช้บริการ 2G ได้อย่างต่อเนื่อง และยุติปัญหาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เกิดความคลุมเครือมาโดยตลอดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เอไอเอส ยังคงเดินหน้าส่งมอบโปรแกรมเชิญชวนให้เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี 3G/4G อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการเองที่จะได้ใช้เทคโนโลยีที่มีประโยชน์ในอนาคต”
“การประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งนี้ นอกเหนือจากจะเป็นการลงทุนเครือข่ายดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุด และต่อยอให้เอไอเอส เป็นเครือข่ายสื่อสารที่แข็งแกร่งที่สุดแล้ว ยังถือเป็นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบเงินจากการประมูลให้แก่ภาครัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ, ก่อให้เกิดการลงทุน และจ้างงานจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขยายเครือข่าย ที่ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยิ่ง” นายสมชัย กล่าวย้ำว่า “ด้วยขีดความสามารถของพนักงานและความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ผมขอยืนยันและให้ความมั่นใจแก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกกลุ่มของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการที่สามารถเชื่อมั่นได้กับคุณภาพที่สมบูรณ์แบบทั้งในวันนี้และอนาคตจากการให้บริการทุกด้านขอเอไอเอส, กลุ่มนักลงทุนที่สามารถมั่นใจได้ว่า การลงทุนครั้งนี้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล สอดคล้องกับภาพรวมการขยายตัวของความนิยมใช้บริการด้านดิจิทัลของคนไทย , ประชาชน ที่จะได้รับประโยชน์จากการยกระดับการใช้ชีวิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สำคัญ เป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่เมื่ออุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมในฐานะโครงสร้างพื้นฐานแข็งแกร่ง ย่อมสามารถนำพาให้อุตสาหกรรมด้านอื่นๆเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างไร้ข้อจำกัด”