ในยุคสมัยที่ความดิจิทัลเข้าถึงผู้คนได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว การทำธุรกรรมทางด้านการเงินได้กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนแทบทุกวันสามารถเข้าถึงได้อย่างง่ายดาย จากที่เคยเข้าสาขาเพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ก็กลายเป็นทำผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารนั้น ๆ แทน หรือแม้แต่ในด้านของการใช้กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “e-Wallet” ที่ได้เข้ามามีอิทธิพลเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ถือได้ว่านี่คือตัวอย่างของการเข้ามามีส่วนร่วมของเทคโนโลยีดิจิทัลกับวงการการเงินในบ้านเรา
แล้วถ้าสถาบันทางการเงินได้เข้ามาร่วมพัฒนาระบบเหล่านี้ได้ดียิ่งขึ้นไป และพร้อมสำหรับการใช้งานในหลากหลายรูปแบบ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานได้อย่างไร วันนี้มีคำตอบแล้ว
โดยในวันนี้ KBank ได้ส่งบีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล หรือที่รู้จักกันในนาม “Beacon VC”(Beacon Venture Capital: Beacon VC) ร่วมลงทุนธุรกิจกับ T2P ผู้นำในการสร้างโซลูชันทางด้านการเงิน เพื่อดึง T2P มาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาระบบกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี – วอลเลต (Electronic Wallet: e-Wallet) ในรูปแบบ B2B2C (Business to Business to Customer) ให้กับลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ของธนาคาร นำเสนอโซลูชันมากมาย เพื่อใช้เชื่อมต่อระหว่างแบรนด์ – ลูกค้า และไปจนถึงลูกค้าที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน เป็นการสร้างโอกาสธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทำให้บริการการเงินไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้งาน
ในการแถลงข่าวร่วมลงทุนในครั้งนี้ มีผู้บริหารจากทั้ง 3 ฝ่ายมาให้ข้อมูล ได้แก่ คุณธนพงษ์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (Beacon VC) และคุณทวีชัย ภูรีทรัพย์ ประธานบริหาร และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของ T2P และคุณศุภนีวรรณ จูตระกูล รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
Beacon VC คือใคร
Beacon VC คือบริษัทร่วมลงทุนของธนาคารกสิกรไทย ที่ทำหน้าที่สนับสนุนวงการสตาร์ตอัปมาเป็นเวลานาน ทั้งให้เงินสนับสนุน และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนเพื่อการพัฒนาและต่อยอดให้ไปได้ไกลกว่าเดิม โดยมีจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2559 ในปัจจุบัน Beacon VC ได้เข้าไปสนับสนุนมากถึง 17 ราย และ T2P ถือเป็นสตาร์ตอัปรายที่ 18
T2P คือใคร
T2P คือบริษัทสตาร์ตอัปสายฟินเทค (Fintech) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ภายใต้การกำกับและดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีจุดเด่นคือการเป็นริเริ่มระบบ e-Wallet ในเมืองไทย กับแอปพลิเคชัน “ดีพ พอกเก็ต” (Deep Pocket) แอปพลิเคชันที่จัดการบัตรเดบิตและบัตรเครดิตที่มีอยู่ให้สามารถชำระค่าบริการต่าง ๆ ได้ง่าย รวมไปถึงสามารถสร้างบัตรเสมือน (Virtual Card) สำหรับชำระสิ้นค้าและบริการต่าง ๆ ในกรณีที่ผู้ใช้บริการยังไม่มีบัญชีธนาคาร หรือยังไม่มีบัตรเครดิตเป็นของตนเอง โดยใช้วิธีการยืนยันตัวบุคคลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (E – KYC: Electronic Know-Your-Customer) ซึ่งแอปพลิเคชัน Deep Pocket นี้ ยังได้รับการแต่งตั้งจากทางวีซ่า (VISA) บริการทางด้านการเงินที่ครอบคลุมทั่วทั้งโลก แต่งตั้งให้เป็นผู้ให้บริการรายแรกที่สามารถออกบัตรของวีซ่าในรูปแบบบัตรเสมือนได้
เมื่ออิงตามข้อมูลของทาง T2P ที่ได้เก็บรวบรวมไว้ในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า มีอัตราการก้าวกระโดดที่สูงมากขึ้น 2.9 พันล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 70 เปอร์เซ็นต์ มีจำนวนกระเป๋าในระบบ 4.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์
ส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขการใช้ธุรกรรม รวมไปถึงจำนวนผู้ใช้บริการมีอัตราเพิ่มขึ้นที่ก้าวกระโดดแบบนี้ มาจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในทั่วทั้งโลก ทำให้การจับจ่ายซื้อของและชำระสินค้าผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวนที่มากขึ้น เพื่อลดการสัมผัสเชื้อไวรัสที่ปะปนมากับเงินสด และลดความจำเป็นในการออกไปรับบริการต่าง ๆ นอกบ้าน
โอกาสและเป้าหมายจากการร่วมลงทุนในครั้งนี้
การลงทุนของ Beacon VC ใน T2P ถือเป็นการลงทุนครั้งที่เท่าไหร่ นับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมา
การลงทุนกับ T2P ในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนครั้งที่ 18 ของ Beacon VC โดยมองถึงเรื่องของการทำงานร่วมกัน (Synergy) เป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมายังหาได้ไม่ชัดเจนเท่าไหร จนเมื่อปี 2564 ได้มีโปรเจกต์ที่ต้องการจะนำกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) มาใช้งานมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ทาง Beacon VC ได้ติดต่อพูดคุยกับทาง T2P ผู้ที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบดิจิทัลวอลเลต ให้เข้ามาร่วมงานกัน และนำมาสู่การลงทุนของ Beacon VC ในครั้งนี้ โดยร่วมลงในฐานะผู้ถือหุ้นของ T2P การลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนแบบ Pure Static โดยให้ T2P มาร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำธุรกิจร่วมกัน พัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางด้านการเงิน ออกสู่ตลาด
การทำ e-Wallet นั้น มีบางบริการหรือบางฟีเจอร์ที่ต้องการสตาร์ตอัปเข้ามาช่วยเหลือธนาคาร ทำให้การบริการในรูปแบบ B2B2C แก่ลูกค้านั้น ทำได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะว่า e-Wallet ต้องรองรับลูกค้าที่ใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทาง T2P มีลูกค้าระดับองค์กรอยู่หลายสิบราย และมีลูกค้าของลูกค้าอีกทอดหนึ่ง จำนวนลูกค้าที่มีอยู่ประมาณกว่า 9 ล้านราย ทั้งความสามารถและประสบการณ์ที่ T2P มีอยู่นั้น ทำให้ Beacon VC เชื่อมั่นว่าจะสามารถซัปพอร์ตและช่วยพัฒนาบริการต่าง ๆ ของ KBank ได้
รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
กรรมการผู้จัดการ บีคอน เวนเจอร์ แคปิทัล (บีคอน วีซี)
ประธานบริหาร และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งของทีทูพี
โอกาสของ KBank ในธุรกิจ e-Wallet เจาะลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่
การร่วมลงทุนของทั้งสองในครั้งนี้ ถือว่าเป็นผลดีของทั้งสองฝ่าย ทั้ง Beacon VC และ T2P เมื่อมองในภาพรวม T2P จะเข้ามาช่วยเหลือ KBank โดยเป็นการเข้ามาเพิ่มศักยภาพของธนาคารฯ สามารถให้บริการ e-Wallet ให้แก่กลุ่มลูกค้า B2B2C ถึงแม้ธนาคารฯ จะสามารถทำ e-Wallet ขึ้นมาได้ก็จริง แต่ด้วยศักยภาพและประสบการณ์ของ T2P เชื่อว่า จะช่วยให้ธนาคารฯ ก้าวเข้าสู่ธุรกิจประเภทนี้ได้เร็วขึ้น รวมถึงสร้างความเข็มแข็งในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กร โดย KBank ที่ได้ลูกค้าเพิ่ม T2P ที่ได้ขยายฐาน ทำแพลตฟอร์มให้มีความใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญ ทำให้มีศักยภาพในการร่วมกันให้บริการแก่ลูกค้ารายใหญ่ ในทางกลับกัน ยังได้ส่งเสริมศักยภาพของ e-Wallet รวมไปถึงยังสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ไร้รอยต่ออีกด้วย นอกเหนือจากนี้ ยังได้ร่วมกันพัฒนา API เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับบริการต่าง ๆ ของทางธนาคาร เช่น บริการเติมเงิน, บริการรับชำระ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงถึงกันอย่างไร้ขีดจำกัด
ในเชิงของการเป็นวอลเลตนั้น ยังสามารถพัฒนาและต่อยอดให้กลายเป็นบริการสินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่า ในกรณีที่มีการกู้ยืมเงินแล้วนำไปใช้ สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการในไปใช้ในรูปแบบใดบ้าง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ให้บริการสินเชื่อ และยังสามารถขยายขอบเขตการให้บริการให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นด้วย
ลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ของ KBank จะใช้โซลูชันอะไรได้บ้าง
เป้าหมายสำคัญคือ การเสริมจุดแข็งให้กับทางธนาคารฯ ในด้านธุรกิจ e-Wallet เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าระดับองค์กร ซึ่งเป็นฐานธุรกิจที่ทางธนาคารได้ให้ความสำคัญ โดยทาง T2P นั้น ถือเป็นผู้นำในการให้บริการโซลูชันทางด้านธุรกรรมการเงินแบบครบวงจรในรูปแบบ B2B2C อาทิ ระบบการชำระเงิน – โอนเงิน และ White Label e-Wallet
สำหรับ White Label e-Wallet นั้น คือการที่มีผู้ออกแบบและพัฒนาระบบวอลเลตขึ้นมา (ในกรณีนี้คือ T2P) ได้เปิดให้บริษัทหรือองค์กรใดก็ได้ สามารถนำระบบวอลเลตนี้ไปใช้โดยใส่ชื่อบริการของตนเองลงไปได้เลย โดยที่บริษัทหรือองค์กรนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องว่าจ้างทีมนักพัฒนาให้พัฒนาขึ้นมาใหม่ เป็นการประหยัดต้นทุน ประหยัดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงลดขั้นตอนการขอยื่นจดทะเบียนการให้บริการ โดยให้ทาง T2P เป็นผู้ดำเนินการจดทะเบียนให้ทั้งหมด หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นไปอีก ให้นึกถึงภาพของโรงงานผลิตครีมบำรุงผิว ที่ผลิตครั้งละมาก ๆ แล้วใครที่สนใจอยากทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ก็ไปติดต่อที่โรงงานแห่งนั้น เพื่อซื้อครีมที่ผลิตแล้วมาติดฉลากของตัวเอง แล้ววางจำหน่ายในที่ต่าง ๆ นั่นเอง
กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เพื่อการพัฒนาโซลูชัน
สำหรับกลยุทธ์ที่ได้นำมาใช้เพื่อพัฒนาโซลูชันทางด้านการเงิน ประกอบด้วย
- พัฒนาศักยภาพ e-Wallet ที่สามารถนำมาใช้ได้ในลักษณะ B2B2C เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าระดับองค์กรของธนาคาร ทั้งยังเป็นการประสบการณ์ที่ดีในการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างธนาคาร, e-Wallet และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าของ T2P ซึ่งในปัจจุบันมากกว่า 30 องค์กร มีลูกค้ารายย่อยขององค์กรรวมกว่า 9 ล้านบัญชี
- พัฒนา API เพื่อเชื่อมต่อบริการทางด้านการเงินต่าง ๆ ของธนาคารฯ กับลูกค้าในรูปแบบ B2B2C ของธนาคารได้ โดยให้บริการวอลเลตแบบ White Label e-Wallet ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของทาง T2P เช่น บริการเติมเงิน, ชำระเงิน และถอนเงิน ถือเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี
- นำโครงสร้างของเทคโนโลยี e-Wallet มาเสริมศักยภาพในการให้บริการสินเชื่อดิจิทัล ที่มีความต้องการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยกล่าวคือ ธนาคารได้มองการปรับใช้เทคโนโลยีของ T2P ในมุมของการควบคุมการใช้จ่ายสินเชื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ หรือผ่านร้านค้าที่กำหนดไว้ และใช้จ่ายอย่างถูกต้อง ตรงตามวัตถุประสงค์ รวมไปถึงเป็นตัวช่วยในการตัดชำระรายการสินเชื่อที่มียอดคงค้างด้วย
เรียกได้ว่าเป็นการประกาศความร่วมมือครั้งสำคัญของแวดวงการเงินและการธนาคารเลยก็ว่าได้ และถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญ ของ KBank ในการพัฒนาโซลูชันทางด้านการเงิน โดยได้พันธมิตรหน้าใหม่อย่าง T2P มาร่วมออกแบบและพัฒนา ให้บริการทางด้านการเงินต่าง ๆ สามารถเข้าถึงลูกค้าทั้งปัจจุบันและรายใหม่ได้มากกว่าเดิม ทั้งบริการ e-Wallet และบริการสินเชื่อดิจิทัล เชื่อได้เลยว่า หลังจากนี้ บริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นยิ่งกว่าเดิม