จากการที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัด ขับเคลื่อนนโยบายในการปราบปราม อาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกำหนดให้การลดคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นนโยบายเร่งด่วน และที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีร่วมกับ เอไอเอส จับกุมเครือข่าย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดและตรวจยึดเครื่อง GSM Gateways (Simbox) ซึ่ง เป็นเครื่องมือที่แก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการกระทำความผิด เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดชลบุรี ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.1 บช.สอท. ได้ทำการสืบสวนขยายผลจนกระทั่งทราบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ในพื้นที่จังหวัดชุมพร
ดังนั้นกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ภายใต้การอำนวยการ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท , พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท. สั่งการให้กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวน อาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 นำโดย พล.ต.ต.ชัชปัณฑการฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสังกัด บก.สอท.1 กระจายกำลังลงพื้นที่ทำการสืบสวนจะกระทั่งสืบทราบว่ามีการใช้เครื่อง GSM Gateways (Simbox) ที่ บ้านเลขที่ 4/15 ม.8 ต.ตากแดด อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ซึ่งเป็นห้องเช่าชั้นเดียวและพบสัญญาณที่บ้านพักเรือนไทย เลขที่ 75/2 หมู่ 6 ซอยศูนย์ราชการ5 ถนนเลียบทางรถไฟ ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ซึ่งเป็น ห้องพักให้เช่ารายเดือน จึงขออนุมัติหมายค้นศาลจังหวัดชุมพร เข้าทำการตรวจค้นบ้านเลขที่ดังกล่าวทั้ง 2 หลัง ดังกล่าว
ผลการตรวจค้น พบนายสุจินดา (สงวนนามสกุล) และน.ส.วิภาวณี (สงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน แสดงตัวเป็นผู้เช่าห้องพักดังกล่าว และเป็นผู้นำตรวจค้น รวมทั้งหมด 11 จุด ผลการตรวจค้น เบื้องต้นพบ GSM Gateways (Simbox) เครื่องแปลงสัญญาณโทรศัพท์แบบใส่ซิมการ์ด ระบบ IP-PBX จำนวน 38 เครื่อง, router wifi ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ 19 เครื่อง เชิญตัว ผู้ครอบครองของกลางดังกล่าวทั้ง 2 ราย มาที่ สภ.เมืองชุมพร จากนั้นนำตัว พร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน กก.2 บก.สอท.1 เพื่อดำเนินการต่อไป
โดย นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอสกล่าวว่า “การจับกุมมิจฉาชีพแก็งคอลล์เซ็นเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของหน่วยงานความมั่นคงอย่างยิ่ง อีกทั้งเราเองก็มีความภาคภูมิใจอย่างมาในการได้มีโอกาสทำงานร่วมกับภาครัฐ ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อ ทั้งผ่านบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และให้ความร่วมมือในการประสานงานในการตรวจสอบข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเอไอเอส ยินดีที่จะสนับสนุนภารกิจนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อปกป้องลูกค้าและประชาชนจากมิจฉาชีพต่อไป”
สำหรับการทำงานของเครื่อง GSM Gateways (Simbox) ที่ตรวจยึดได้นั้นเป็นอุปกรณ์ที่คนร้าย แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการโทรศัพท์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแล้วแปลงสัญญาณเป็นสัญญาณโทรศัพท์เพื่อโทรออกหลอกลวงหรือข่มขู่ผู้เสียหาย ซึ่งอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้จำนวน 38 เครื่อง มีความสามารถโทรหลอกลวงหรือข่มขู่ ผู้เสียหายได้มากถึงวันละ 608,000 ครั้ง หรือกว่า 18.2 ล้านครั้งต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมผลการปฏิบัติที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถตรวจยึด GSM Gateways (Simbox) ได้แล้ว จำนวน 240 เครื่อง ซึ่งสามารถระงับยับยั้งการโทรของคนร้ายได้กว่า 115 ล้านครั้งต่อเดือน รวมมูลค่าอุปกรณ์ที่ตรวจยึดได้มีมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท อนึ่งจะได้ทำการขยายผลค้นหาขบวนการผู้กระทำผิดและหมายเลขโทรศัพท์เพื่อเชื่อมโยงกับคดีที่ได้รับแจ้งไว้แล้วต่อไป