ถ้าใครที่ใช้คอมพิวเตอร์มานานสัก 10 ปีขึ้นไปน่าจะคุ้นเคยกับเครื่องพิมพ์ยี่ห้อ Lexmark กันดีนะครับ เพราะตัวเครื่องค่อนข้างถูก และเป็นเจ้าแรกๆ ที่สามารถสั่งพิมพ์ผ่าน Wifi ได้ แต่ช่วงหลัง Lexmark ห่างหายจากตลาดไทยไป และในปี 2012 ก็ได้ถอนตัวออกจากตลาดเครื่องพิมพ์ Inkjet ไป ล่าสุด Lexmark ได้กลับมาทำตลาดในประเทศไทยโดย Computer Union หรือ CU
Lexmark ยุคใหม่เน้นเครื่องพิมพ์องค์กร
จุดเด่นของเครื่องพิมพ์จาก Lexmark สำหรับองค์กรธุรกิจคือทำงานได้รวดเร็ว มีเครื่องพิมพ์ที่มีหน่วยประมวลผล 4 แกน ซึ่งนอกจากจะพิมพ์งานได้รวดเร็วแล้ว ยังสามารถจัดการสแกนเอกสารและแปลงเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (OCR) ในตัวได้ โดยไม่ต้องตั้งเซิร์ฟเวอร์เพื่อจัดการ ทำให้สามารถค้นหาข้อมูลเอกสารจากคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็ว ที่เจ๋งคือไดร์เวอร์ของ Lexmark นั้นเป็นไดร์เวอร์กลาง สามารถจัดการกับเครื่องพิมพ์ทุกรุ่นของบริษัทได้ โดยไม่ต้องหาไดร์เวอร์รุ่นเฉพาะ ลดปัญหาปวดหัวไปได้เยอะ นอกจากนี้ยังประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยการพิมพ์ 55,000 แผ่นโดยใช้ Toner แค่ชุดเดียว และยังทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนได้ง่ายๆ
เมื่อ Lexmark เน้นโซลูชันเครื่องพิมพ์สำหรับองค์กร ก็ต้องมีความสามารถที่องค์กรใช้ เช่นรองรับ Bring Your Own Devices (BYOD) ทำให้ผู้ใช้สามารถนำอุปกรณ์ของตัวเองมาพิมพ์ได้ง่ายๆ รองรับการทำงานผ่าน Cloud เช่น Google Cloud Access พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยเอกสาร และทีมซับพอร์ตสำหรับองค์กร นอกจากนี้ยังมีโซลูชันใหม่ๆ จากบริษัทที่ Lexmark ซื้อเข้ามาร่วมทีมอย่าง Kofax VRS Image Processing (ซื้อมา 1 พันล้านเหรียญ) ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพงานสแกนได้อัตโนมัติ
ตอนนี้ Lexmark เน้นธุรกิจใหญ่ๆ ในกลุ่ม FS and I คือการเงิน ความปลอดภัย และประกัน
มาแนวแปลก ไม่ต้องการให้ลูกค้าพิมพ์เยอะ
Lexmark ไม่ได้อยากให้ลูกค้าพิมพ์งานเยอะ แต่อยากให้เป็นในลักษณะ Print less save more มากกว่า จึงพัฒนาโซลูชันเพื่อให้จัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น ลงทุนซื้อเทคโนโลยีเหล่านี้มามากมาย เครื่องพิมพ์สามารถพิจารณาประเภทเอกสารและจัดกลุ่มไฟล์อิเล็กทรอนิกส์อัตโนมัติตามฟอร์มที่สอนเครื่องเอาไว้ พร้อมดึงข้อมูลในเอกสารออกมาเป็น XML เลยเพื่อนำไปใช้ในระบบต่อไปได้ ค่า Cost Per Page (CPP) ที่ดีที่สุดจึงเป็น 0 เพราะไม่ต้องพิมพ์ออกมา
ระบบ OCR ของ Lexmark สามารถอ่านภาษาไทยได้ และฝังลงใน PDF เพื่อให้คอมพิวเตอร์ค้นข้อมูลได้
Lexmark เจาะไทย โดยไม่เน้นกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กหรือ SOHO เน้นองค์กรขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลาง SMB จึงเน้นไปที่เรื่องความเร็วในการพิมพ์ หรือ workflow ที่ซับซ้อนของธุรกิจ
การขายนั้นจะมีทั้งการขายขาดที่ลูกค้าดูแลเครื่องอื่น และ MPS (Manage Print Service) ที่จะไม่มีเครื่องพิมพ์ในบัญชีบริษัท ก็จะเป็นรูปแบบการเช่าใช้ ซึ่งราคาสามารถดูได้จากเว็บของ Lexmark เป็นหลัก
Lexmark Executive Briefing Center (EBC)
ห้องแสดงโซลูชันและฝึกอบรมคู่ค้าของ Lexmark เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคต่างๆ กับผู้ใช้ โดย CU ลงทุนไปประมาณล้านต้นๆ สำหรับศูนย์นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของ Innovation Center เดิมของ CU
Solution Composer
เครื่องพิมพ์ของ Lexmark รุ่น CX825 นั้นทำงานบน Android จึงมีความสามารถที่ยืดหยุ่นหลายอย่าง เช่นลง VLC เพื่อควบคุมเครื่องระยะไกล หรือสร้าง action เพื่อให้ทำงานซับซ้อนได้อัตโนมัติ โดยออกแบบ Workflow ผ่านคอมพิวเตอร์ก่อน ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขว่าถ้าเจอเหตุการณ์อย่างไรให้ทำอย่างไร
Mobile Printing
สามารถสั่งพิมพ์และสแกนผ่านมือถือได้ โดยได้ทั้งผ่านแอป Lexmark และระบบกลางอย่าง Apple Airprint
Security Printing
เครื่องสามารถอ่าน RFID จากบัตรพนักงานเพื่ออนุมัติการพิมพ์ได้ หรือป้อนเป็นรหัสเพื่อยืนยันการพิมพ์
Cloud Printing
ตัวเครื่องพิมพ์สามารถเชื่อมต่อกับ Google Drive ได้ด้วยตัวมันเอง ไม่ต้องเชื่อมผ่านคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถพิมพ์งานจาก Google Drive หรือเก็บงานขึ้น google drive ได้ทันที
Lexmark คืออดีต IBM
IBM นั้นสร้างนวัตกรรมขึ้นมามากมาย พิมพ์ดีดอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแรกของโลกก็พัฒนาโดย IBM ซึ่งต่อมาทีมที่พัฒนาเครื่องพิมพ์เหล่านี้ก็แยกจาก IBM มาก่อตั้งเป็น Lexmark ในปี 1991 ซึ่งปัจจุบัน Lexmark มีพนักงานมากกว่า 12,000 คน ขายใน 170 ประเทศ กำไร 56% มาจากนอกสหรัฐอเมริกา ด้วยรายได้มากกว่า 3,700 ล้านเหรียญในปี 2015 ในไทยเองก็มีบริษัทอย่าง Tesco Lotus, ธนาคารออมสิน หรือกรมสรรพากรที่ใช้อยู่
Lexmark เปลี่ยนโลโก้จากสีดำแดงที่คุ้นเคยเป็นสีเขียวในปี 2015
เกี่ยวกับ Computer Union
Computer Union หรือ CU เป็นบริษัทในเครือสหยูเนี่ยน ก่อตั้งเมื่อปี 1982 หรือประมาณ 34 ปีที่แล้ว โดยเริ่มต้นจากการขายเครื่องคอมพิวเตอร์ PC จาก IBM ตั้งแต่ปี 1983 ซึ่ง CU เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ IT มากมายในกลุ่มสำหรับองค์กรจากแบรนด์ IBM, Lenovo, Cisco, HP เป็นต้น
CU เป็น Value Added Distributer ตั้งแต่แรก ไม่มีสินค้าคงคลัง ที่พยายามพัฒนาการค้าให้มีมูลค่ามากขึ้น เช่นการพัฒนาบุคลากรให้รองรับสินค้าได้มากขึ้น มีการสร้างพื้นที่ให้ความรู้ด้านผลิตภัณฑ์ของคู่ค้าต่างๆ ซึ่งในช่วงหลังการจำหน่ายฮาร์ดแวร์ก็หดลง แล้วก็มาเน้นที่ซอฟต์แวร์และโซลูชันแทน