นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยว่าในวันนี้ (20 ตุลาคม) กสทช. มีมติเสียงข้างมากอนุญาตการควบรวมกิจการของ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายหลังจากหารือที่กินเวลากว่า 11 ชั่วโมง
สำหรับในรายละเอียดของการประชุมนั้น ด้าน ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ มีความเห็นว่าการควบรวมระหว่างทั้ง 2 บริษัทไม่ถือว่าเข้าข่ายการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561)
ในทางกลับกัน ที่ประชุมอีกฝ่ายหนึ่ง ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย มีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามประกาศของ กสทช. และเสนอให้ กสทช. สั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว
ส่วนกรรมการ กสทช. ที่เหลือ ซึ่งก็คือ พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ งดออกเสียงในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการตีความกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน
ผลการลงคะแนนเสียงในรอบแรกจึงทำให้คะแนนออกมาเท่ากัน 2 ต่อ 2 จึงทำให้ประธานในที่ประชุมใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ในการออกเสียงตัดสิน กลายเป็นคะแนน 3 ต่อ 2 ส่งผลให้ กสทช. มีมติอนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัทควบรวมกัน
อย่างไรก็ดี กสทช. มีการกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะเพื่อใช้ควบคุมทรูและดีแทคภายหลังจากการควบรวม เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการที่เป็นธรรมแก่ลูกค้า
โดย กสทช. ได้กำหนดให้มีการลดค่าบริการโดยเฉลี่ยกับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นหลังการควบรวม รวมถึงต้องคงไว้ซึ่งทางเลือกของลูกค้า และส่งข้อมูลที่จำเป็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ
นอกจากนี้ การกำหนดราคาค่าบริการจะต้องกระทำอาศัยการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน และยังต้องรักษาเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน
ภายหลังจากการควบรวมไปแล้ว ทั้ง 2 บริษัทยังต้องแยกแบรนด์ในการให้บริการเป็นเวลา 3 ปี และต้องคงไว้ซึ่งสัญญาเดิมที่ลูกค้าเคยได้รับ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากลูกค้า
และท้ายที่สุด ทั้ง 2 บริษัทจะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพการให้บริการ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการต่อไป
ที่มา Bangkokbiznews