9 พ.ย. 65 – Line ประเทศไทย จัดงาน Line Thailand Business 2022 ร่วมเปิดแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2023 ท่ากลางกระแสเศรษฐกิจถดถอย พร้อมวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเชื่อมั่นว่า เศษฐกิจไทยยังคงมีศักยภาพและสามารถเติบโตต่อไปได้ เข้าใกล้ประเทศพัฒนาแล้ว
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) Line ประเทศไทย กล่าวว่า ปีนี้ไทยเผชิญกับวิกฤตหลายด้าน ทั้งโควิด19 , สงคราม , ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้ทั่วโลกเสี่ยงกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้เศรษฐกิจของไทยยังไม่กลับมาเติบโตเท่าที่ควร โดยเฉพาะเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงซึ่งถือเป็นรายได้หลักของไทยก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัว แม้จะมีการเปิดประเทศแล้ว ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากการที่จีนยังคงดำเนินนโยบาย Zero Covid ปิดประเทศอยู่ ทำให้จีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวหลักของไทยยังเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ได้
แต่อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีดัชนีหลายตัวที่บ่งบองว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้ เช่น ดัชนีการพัฒนามนุษย์ หรือ HDI (Human Development Index) ซึ่งไทยได้รับการจัดอันดับจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ให้เป็นประเทศที่ดัชนีการพัฒนามนุษย์สูง (สูงกว่า 0.8) เทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่อัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรของไทยก็สูงขึ้นและกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อปี (Income Per Capita) ใกล้แตะ 22,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 800,000 บาท ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ขณะเดียวกันในด้านของศักยภาพการแข่งขัน ข้อมูลจาก Line Business พบเห็นการปรับตัวอย่างรวดเร็วของผู้ประกอบการในไทย ทั้งขนาดใหญ่ SMEs และรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพธุรกิจ โดยสะท้อนจาก Line Official Account (Line OA) เติบโตขึ้น 31% ในปีนี้ มีมากกว่า 5.5 ล้านบัญชีแล้ว โดยผู้ประกอบการเชื่อต่อ Line OA เข้ากับบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 25%
โดยอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตใน Line OA ในด้านของมูลค่าสูงสุด คือ Home & Living +29% จากปีที่แล้ว รองลงมาคือด้านการศึกษา สุขภาพและความงาม เติบโต 27% จากปีที่แล้ว ส่วนอุตสาหกรรมที่ผู้ใช้งานมีส่วนร่วมมากที่สุด ได้แก่ สุขภาพและความงาม เติบโต 20% จากปีที่แล้ว รองลงมาคือแฟชั่น อาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 20% จากปีที่แล้ว
ส่วนสถิติอื่น ๆ พบว่า มีการแชตแบบ 1:1 เพิ่มขึ้นถึง 75% และ API Traffic Growth +25% หากแบ่งตามประเภท การขายปลีกและอีคอมเมิร์ซเติบโตมากที่สุด เพิ่มขึ้น 57% จากปีที่แล้ว รองลงมาคือการใช้งานของหนาวยงานภาครัฐ เติบโต 40% จากปีที่แล้ว ตามด้วยการใช้งานเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 32% จากปีที่แล้ว และด้านการเงิน เติบโต 28% จากปีที่แล้ว
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส