ปัจจุบันความสำเร็จขององค์กรอาจไม่ได้วัดแค่ผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการสร้างคุณค่าแก่สังคมในมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้ที่ขับเคลื่อนธุรกิจและสิ่งแวดล้อมอย่าง AIS ต้องการพัฒนา Ecosystem ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้ชวน 6 องค์กรมาร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ ให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero Landfill ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ภารกิจ “คนไทยไร้ E-Waste”
AIS ได้ร่วมทำงานกับพันธมิตรเครือข่าย Green Partnership ทั้ง 6 องค์กร ประกอบไปด้วย บริษัท เด็นโซ่ อินเตอร์เนชั่นแนล เอเชีย จำกัด, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บริษัท เงินติดล้อ จำกัด, ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ที่จะเดินหน้าสร้างมาตรฐานการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสามารถสร้างการมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสผ่าน Blockchain
การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้เกิดขึ้น บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ เป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการนำโครงข่ายอัจฉริยะกับเทคโนโลยี Blockchain มา Redesign Ecosystem กระบวนการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้ใช้สามารถติดตามการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองได้ ตั้งแต่ขั้นตอนทิ้ง การรีไซเคิล และผลลัพธ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า “จากสถานการณ์โลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตในทุกภาคส่วน ดังนั้นเราจึงทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ สร้างการรับรู้และตระหนักถึงโทษภัยของขยะ E-Waste ในขณะเดียวกันก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการจัดเก็บและทำลาย E-Waste อย่างถูกวิธี ทั้งการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ตั้งจุดรับทิ้งและนำไปเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
แพลตฟอร์ม E-Waste+ อาศัยเทคโนโลยี Blockchain ทำงานผ่านกระบวนการ Track and Trace ช่วยติดตามขยะ E-waste ทุกชิ้น สามารถตรวจสอบสถานะได้ทั้งกระบวนการ จากนั้นจะคำนวณขยะ E-Waste ที่ได้ออกมาเป็น Carbon Scores เพื่อให้ทราบว่าเราช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่
เทคโนโลยี Blockchain ทำให้เรามองเห็นโอกาสและความสามารถในการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงทางธุรกิจ ซึ่งแพลตฟอร์ม E-Waste + เป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม โดยทำให้ผู้ทิ้งมั่นใจว่าขยะ E-Waste จะถูกนำส่งไปยังกระบวนการรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานและโปร่งใส ซึ่งจะสามารถตรวจสอบสถานะของกระบวนการนำส่งได้ในแต่ละขั้นตอน นอกจากนี้ AIS ยังมีแผนพัฒนาให้ Carbon Scores นำไปใช้เป็น Utility Token ที่จะช่วยต่อยอดธุรกิจให้กับองค์กรพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการนี้อีกด้วย
E-Waste+ สามารถเชื่อมต่อระบบการทำงานและพฤติกรรมของทุกคนให้เห็นถึงปริมาณคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตประจำวันได้ ช่วยยกระดับแพลตฟอร์มการคำนวณ Carbon Footprint ส่วนบุคคล และกิจกรรมประเภทต่าง ๆ ที่หลากหลายองค์กรสามารถเข้ามาใช้เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ปิดท้ายประเทศไทยตั้งเป้าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคม Carbon Neutrality หรือความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และ Net Zero ที่ปราศจากมลพิษในปี 2065 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้นนั่นเอง