ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากใครเป็นสายนักพัฒนาก็คงคุ้นเคยหรือคุ้นหูกับ Amazon Web Services หรือที่เรารู้จังกันในชื่อ AWS บริการคลาวด์ชั้นนำภายใต้บริษัทระดับโลกอย่าง อะเมซอน (Amazon) ซึ่งในวันนี้เอง (17 มกราคม 2023) Amazon Web Services ได้ออกมาให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับ AWS Local Zone ที่เปิดตัวในประเทศไทย สามารถใช้งานได้แล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พร้อมเผยรายละเอียดก้าวต่อไปของอะเมซอนกับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
AWS Local Zone
AWS Local Zone ที่เปิดตัวไปในเมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมาจะเป็นโซนที่เปิดใหม่ในกรุงเทพมหานคร เป็น 1 ใน 29 Local Zone ทั่วโลก ตามแผนที่ได้มีการประกาศไปตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 โดยโซนนี้จะเป็นโซนลูกที่ถูกขยายออกมาจากภูมิภาค (Region) ที่ตั้งเป็นหลักอยู่ในประเทศสิงคโปร์
AWS Local Zone ในกรุงเทพมหานครนั้น จะมีการตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทยทำให้แอปพลิเคชัน เว็บไซต์ หรือโครงสร้างที่ตั้งอยู่บน Local Zone นี้ สามารถให้บริการได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความหน่วง (latency) ที่น้อยมาก น้อยกว่า 10 มิลลิวินาที (single-digit millisecond) รวมถึงข้อมูลต่าง ๆ ยังถูกเก็บไว้ภายในประเทศอีกด้วย
ด้วยเซิร์ฟเวอร์ที่ขยายมาตั้งในประเทศไทย และประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจาก AWS Local Zone นั้น แลกมาด้วยราคาที่จะสูงกว่าบริการที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคที่สิงคโปร์เล็กน้อย เหมาะกับบริการที่ต้องการความหน่วงที่น้อยในระดับหลักหน่วยมิลลิวินาที เพื่อมอบประสบการณ์ให้ผู้ใช้ทั่วไป เช่น อุตสาหกรรมเกม โซเชียลมีเดีย สื่อ หรือโทรคมนาคม รวมถึงบริการที่มีข้อจำกัดทางด้านสถานที่การเก็บข้อมูลที่กฎหมายอาจกำหนดให้ข้อมูลเหล่านี้ต้องถูกเก็บไว้ในประเทศเท่านั้น
สำหรับ Local Zone ในประเทศต่าง ๆ จะมีบริการที่สามารถใช้งานได้ถึง 6 บริการ ได้แก่ Amazon EC2, Amazon EBS, Amazon ECS, Amazon EKS, VPC, และ AWS Shield ส่วนอีก 6 บริการในตอนนี้ยังเปิดให้ใช้งานในเฉพาะบาง Local Zone เท่านั้น เช่น ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
ก้าวต่อไปของ AWS ในประเทศไทย
สำหรับ AWS ในประเทศไทย เมื่อปีที่แล้วได้มีการประกาศลงทุนมากกว่า 190,000 ล้านบาท อย่างต่อเนื่องในระยะเวลา 15 ปี พร้อมเปิดภูมิภาค AWS Asia Pacific (Bangkok) ในประเทศไทย ที่จะให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับคลาวด์ จำนวน 3 Availability Zone หรือศูนย์ข้อมูล ให้สามารถเข้าถึงบริการได้มากกว่า 200 บริการ และมีการรันและเก็บข้อมูลในประเทศไทย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้อยู่แถวแนวหน้าของภูมิภาค
นอกจากนี้ AWS ยังมีการฝึกทักษะให้กับทั้งแรงงาน รวมถึงบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และนักเรียน ในหลายหลายโครงการ เช่น AWS Skill Builder แพลตฟอร์มการเรียนแบบอิสระ (self-paced) ที่มีมากกว่า 500 คอร์สให้เลือกเรียน โดยมี 62 คอร์สที่มีการสอนเป็นภาษาไทยด้วย AWS Educate โปรแกรมการเรียนรู้เกี่ยวกับระบบคลาวด์ที่ออกแบบเนื้อหามาให้สามารถเรียนได้ง่าย ๆ ตั้งแต่อายุ 13 ปี รวมถึง AWS Academy ที่จะเป็นโครงการที่ฝึกให้บุคลากรทางการศึกษาหรือนักเรียนเพื่อสอบใบประกาศนียบัตรในสายงานของระบบคลาวด์
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส