เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมาสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ร่วมกับบริษัทและองค์กรชั้นนำจากฝรั่งเศสและไทย ร่วมกันจัดงาน Launching Event เพื่อเริ่มต้นกิจกรรม 2023 ปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทย (France-Thailand Year of Innovation 2023) อย่างเป็นทางการที่สวยเบญจกิติ กรุงเทพมหานคร

โดยได้รับเกียรติจากคุณตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, ออลีวีเย แบ็ชต์ (Olivier Becht) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกิจการยุโรปและการต่างประเทศ สาธารณรัฐฝรั่งเศส มาร่วมพิธีเปิดกิจกรรมในครั้งนี้

ดร.โกลดี แอเญอเร (Claudie Haigneré) และพลเอก ฌ็อง-ปีแยร์ แอเญอเร นักบินอวกาศฝรั่งเศส
ดร.โกลดี แอเญอเร (Claudie Haigneré) และพลเอก ฌ็อง-ปีแยร์ แอเญอเร นักบินอวกาศฝรั่งเศส

นอกจากยังได้รับเกียรติจาก ดร.โกลดี แอเญอเร (Claudie Haigneré) นักบินอวกาศหญิงชาวฝรั่งเศสคนแรก และพลเอก ฌ็อง-ปีแยร์ แอเญอเร (General Jean-Pierre Haignere) นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศสมาร่วมแชร์ประสบการณ์ในวงโคจรทั้งในสถานีอวกาศมีร์ (Mir) และสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ซึ่งประสบการณ์ที่น่าจดจำคือการได้เห็นสุริยุปราคากลางอวกาศ สัมภาษณ์โดย ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน บรรณาธิการจาก spaceth.co

และยังมีมินิคอนเสิร์ตจากมารี เออเจนี เลอเรย์ (Marie Eugenie Le Lay) หรือส้ม มารีด้วย ปิดท้ายด้วยการแสดงโดรนกลางท้องฟ้ายามค่ำคืนในกรุงเทพฯ

กิจกรรมจากหน่วยงานต่าง ๆ

Michelin

Michelin Uptis
Michelin Uptis

บริษัทยางชั้นนำจากฝรั่งเศสโชว์ Uptis ยางรถยนต์ที่ไม่ต้องเติมลมที่กำลังพัฒนากันอยู่ โดยต้นแบบแรกเสร็จตั้งแต่ปี 2019 และตอนนี้ก็กำลังพัฒนาให้เหมาะกับสภาพถนนทั่วโลก แต่ยางรุ่นนี้จะเน้นขายกับองค์กรหรือ OEM ก่อน ยังไม่ได้ขายกับคนทั่วไป

นอกจากนี้ Michelin Guide ไกด์แนะนำอาหารที่ได้รับความเชื่อถือจากทั่วโลก ซึ่งก็แนะนำอาหารในไทยมาหลายปีแล้ว ก็มาร่วมแนะนำแอปในครั้งนี้ด้วย

Airbus

1 ในบริษัทอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็มาให้ข้อมูลเกี่ยวกับกิจการการบินและอวกาศ โดยในงานเอา VR Simulator สำหรับฝึกเช็กเครื่อง Airbus A320 มาให้ได้ลองกัน โดยเป้าหมายของ VR Simulator นี้เพื่อให้นักบินสามารถกลับไปฝึกซ้อมที่บ้านได้ แทนที่จะต้องฝึกในห้องซิมมูเลเตอร์ราคาแพงเสมอ (แต่ถ้าต้องเก็บชั่วโมง ก็ยังต้องฝึกในซิมอยู่ดี)

นอกจากนี้ยังโชว์ THEOS-2 (Thailand Earth Observation Satellite) หรือดาวเทียมไทยโชต-2 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ภัยพิบัติ ผลิตที่โรงงาน Airbus ในยุโรป และกลับไปพัฒนาต่อที่ GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)) ที่ศรีราชา

GISTDA

ตัว GISTDA เองก็มาร่วมงานนี้ครับ โดยโชว์โมเดลของ THEOS-2A ดาวเทียมตัวน้องของ THEOS-2 ที่แม้มีความละเอียดไม่เท่ารุ่นพี่ แต่ก็สามารถถ่ายวิดีโอได้ด้วย โดยเป็นดาวเทียมที่วิศวกรไทยร่วมงานกับ Surrey Satellite Technology โดยสร้างขึ้นในอังกฤษ แล้วกลับมาปรับแต่งต่อในไทย

ทั้ง THEOS-2 และ THEOS-2A เป็นดาวเทียมสำรวจภูมิประเทศ ซึ่งสามารถทำงานได้หลากหลาย เช่นวางแผนการสร้างสนามบิน วิเคราะห์ผลผลิตยาง, วิเคราะห์น้ำท่วม ให้บริการภาคประชาชน รวมถึงความมั่นคงของรัฐ สามารถถ่ายภาพในจุดต่าง ๆ ได้ทั่วโลก

ปัจจุบันยังคงเป็น THEOS-1 ที่ให้บริการในวงโคจรอยู่ ซึ่งปล่อยขึ้นสู่อวกาศตั้งแต่ปี 2008 ส่วน THEOS-2A มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในเดือนมีนาคม 2023 นี้ แต่ THEOS-2 ยังคงหากำหนดขึ้นสู่อวกาศอยู่ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การส่งดาวเทียมที่รัสเซียมีปัญหา

Alstom

บริษัทพัฒนาการขนส่งในระบบรางจากฝรั่งเศส ที่สร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง สีเหลืองและสีชมพูในไทย ซึ่งตอนนี้กำลังพัฒนารถไฟพลังไฮโดรเจน ที่สามารถวิ่งได้เป็นพันกิโลโดยที่รางไม่ต้องมีสายไฟฟ้าติดไปได้เหมือนรถไฟฟ้าปกติ

ติดตามกิจกรรมนวัตกรรมฝรั่งเศส-ไทยได้ตลอดปี

เจ้าชายน้อย
เจ้าชายน้อย

ในปี 2023 นี้ก็จะมีกิจกรรมตลอดทั้งปี โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บ YearofInnovationFranceThailand.com

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส