Amity ประกาศตั้งบริษัทย่อย Amity Solutions เน้นผลิตภัณฑ์ AI ในประเทศไทย และพร้อมเดินหน้าอย่างเต็มกำลังเข้าสู่ IPO ในปี 2567
วันที่ 9 มีนาคม 2566 แอมิตี (Amity) บริษัทผู้ให้บริการ Software-as-a-service (SaaS) ไทยระดับโลกได้ประกาศแผนจัดตั้งบริษัทย่อยแยกออกจากหน่วยธุรกิจที่เน้นทำในตลาดประเทศไทยภายใต้แบรนด์ใหม่ชื่อว่า “แอมิตี โซลูชันส์ (Amity Solutions)”
โดย Amity เล็งเสนอขายหุ้นเป็นครั้งแรกของบริษัทให้กับสาธารณชน (Initial Public Offering : IPO) Amity Solutions ในปี 2567 และจะนำเงินลงทุนไปพัฒนาในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT
การเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะเห็นการแบ่งออกกันได้อย่างชัดเจนกันระหว่างธุรกิจของ Amity ที่เป็น “Software Development Kit (SDK) และ Application Program Interface (API)” ที่จะมีการเติบโต และเน้นขายในตลาดโลก กับเน้นภายในตลาดประเทศไทย
ธุรกิจหลักของ Amity Solotions จะประกอบไปด้วยสองผลิตภัณฑ์หลักคือ เอโค่ (Eko) ที่เป็นผลิตภัณฑ์ทำงานระบบอัตโนมัติ (Automation) พร้อมกับเสริมสร้างการมีส่วนร่วม (Engagememt) และอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ดังเดิมของบริษัท Amity ก็คือผลิตภัณฑ์แชทบอทที่มีชื่อว่า แอมิตีบอตส์ (Amity Bots) โดยผลิตภัณฑ์ทั้งสองมียอดผู้ใช้งานมากกว่า 20 ล้านคนต่อเดือน
ในท้ายที่สุด Amity Solutions จะนำโซลูชัน และผลิตภัณฑ์ AI ไปรวมเข้า (Integrate) กับเทคโนโลยี GPT ที่มีอยู่ทั้งหมด พร้อมกับลงเงินลงทุนเพิ่มเติมเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำโซลูชัน AI ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้
กรวัฒน์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และผู้ก่อตั้ง Amity ได้กล่าวไว้ว่า
“เรามีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเทคโนโลยี GPT กำลังพาพวกเราไปสู่ยุคใหม่ของความสามารถด้านการประมวลผล (Computing Capabilities) และเชื่อมั่นว่ามันสามารถพลิกโฉมอุตสาหกรรมทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งรวมถึงวิธีการดำเนินธุรกิจด้วย แชทจีพีที (ChatGPT) ทั้งหมดนี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าแพลตฟอร์ม GPT ของ OpenAI มีศักยภาพการทำงานอะไรได้บ้าง โดยทาง Amity Solutions ก็มีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำระดับภูมิภาคที่พัฒนาโซลูชัน AI ที่นอกเหนือ GPT”
ทาง Amity ได้ตั้งเป้าหมายสู่การเสนอขาย IPO Amity Solutions ในปี 2567 ซึ่งในขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนของการประเมินตัวเลือก IPO ทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับภูมภาคเพื่อวางกำหนดขั้นตอนต่อไปของบริษัท แต่เป้าหมายที่แท้จริงของ Amity คือเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ SaaS ที่เสนอขาย IPO เป็นรายแรกของภูมิภาคให้ได้
ส่วนของธุรกิจระดับโลก Amity จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ “แอมิตีโซเชียลคลาวด์ (Amity Social Cloud : ASC)” และยังดำเนินธุรกิจแบบเอกชนโดยมีเป้าหมายสูงสุดที่จะจดทะเบียนในแนสแด็ก (NASDAQ) ในอีกหลายปีข้างหน้า
Amity Social Cloud เป็นผลิตภัณฑ์ที่จะมาช่วยขับเคลื่อนชุมชนดิจิทัล และโซเชียลฟีเจอร์ในแอปพลิเคชันที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับแอปพลิเคชันเว็บไซต์ใดก็ได้ นับจากการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2564 ผลิตภัณฑ์มีการเติบโตอย่างสูงในตลาดยุโรป และอเมริกา มียอดผู้ใช้งานต่อเดือน (Monthly Active Users : MAUs) จาก 30,000 รายในต้นปี 2565 ขึ้นเป็นมากกว่า 1.1 ล้านรายรายในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งสำนักงานของ Amity ตั้งอยู่ในลอนดอน และมิลาน มีลูกค้าแบรนด์ชั้นนำจากยุโรป และอเมริกาหลายสิบแห่ง และมีธุรกิจมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
หลังจากการเปิดตัว Amity Bots Plus ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี GPT ก็ถือว่าเป็นก้าวสำคัญของบริษัท และในขณะเดียวกันเราก็มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมล้ำสมัยมากสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ด้าน ทัชพล ไกรสิงขร ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี (CTO) และผู้ร่วมก่อตั้งของ Amity ได้กล่าวเอาไว้ว่า “เป้าหมายของเราคือต้องทำให้แน่ใจ และชัดเจนว่า ลูกค้าของเรานั้นสามารถเข้าถึงโซลูชันเทคโนโลยีอันก้าวล้ำที่ช่วยให้พวกเขาสามารถแซงหน้าคู่แข่งได้”
ในท้ายที่สุด ไลโอเนล ชิน (Lionel Chin) กรรมการผู้จัดการ Amity Solutions ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นอย่างมากกับการเปิดตัวบริษัทย่อยของเราเอง ที่จะมาช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ของเราก้าวสู่อีกขั้นด้วยเทคโนโลยี AI และระบบ Automation ที่ล้ำสมัย”