ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา LINE ได้จัดงาน LINE Developer Day 2016 ขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นนะครับ ซึ่งหลังจากจบงาน ทีมงานเว็บแบไต๋ก็ได้พูดคุยกับคุณ อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย ถึงทิศทางในอนาคตของ LINE และสิ่งที่ไลน์ประเทศไทยกำลังจะทำต่อไปในปีนี้

Play video

ซึ่งจากงาน LINE Developer Day คุณอริยะก็ได้สรุปเรื่องสำคัญจากงานนี้ออกมาเป็น 3 ข้อคือ

  1. ไลน์เปิดให้นักพัฒนามากขึ้น นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะที่ผ่านมาไลน์เป็นแพลตฟอร์มปิดมาตลอด คนที่จะเข้าใช้ได้ก็ต้องเป็นพาร์ทเนอร์กัน ซึ่งการเปิดกว้างจะทำให้นักพัฒนากลุ่มใหญ่สามารถสร้างบริการขึ้นบนแพลตฟอร์มของไลน์ได้ง่ายขึ้น และตอนนี้ไลน์กำลังขยายทีมมาไทยและอินโดมากขึ้นด้วย
  2. แอปหมดความสำคัญ คนทั่วไปติดตั้งแอปใหม่ๆ น้อยลงมาก เหลือแต่แอปหลักๆ ที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น และกระตุ้นให้คนลงแอปใหม่ยากขึ้นด้วย ซึ่งไลน์ได้เริ่มแนวทางนำฟีเจอร์ใหม่ๆ เช่น LINE Pay, LINE Gift Shop, LINE Call มารวมอยู่ในแอปหลัก ไม่ต้องลงเพิ่มมานานแล้ว ซึ่งการที่เปิด API ให้นักพัฒนาเข้าถึงได้มากขึ้น ก็ทำให้บริการมากมายมาอยู่บนไลน์ง่ายขึ้น เช่น LINE music ของญี่ปุ่นที่เปิดบริการใหม่ในแอปไลน์หลัก สามารถแซทเพื่อค้นหาและฟังเพลงได้ในหน้าแซทเลย
  3. เปิดแข่งขันพัฒนา LINE bot แข่งขันกันสร้าง ซึ่งเปิดรับทั่วโลก ซึ่งแน่นอนไลน์ประเทศไทยก็อยากให้ทีมไทยชนะ

dsc08199

Group Chat เก่งขึ้น แต่ยังไม่กำหนดวันเข้าไทย

ในส่วนของฟีเจอร์อื่นๆ นั้น เรื่องที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้คนไทยคือ Group Chat ซึ่งพัฒนาโดยฟังจากผู้ใช้มากขึ้น ซึ่งมีฟีเจอร์ใหม่หลายอย่างคือ

linegroupplus

 

  1. Admin ที่ให้ผู้ใช้คนหนึ่งมีสถานะเป็น Admin จัดการคนเข้าออกได้ ควบคุมได้ว่าให้ผู้ใช้คนไหนอยู่ในกลุ่ม ควบคุมการเชิญได้
  2. สร้าง Subgroup หรือกรุ๊ปย่อย เช่นในกรุ๊ปแซทบริษัท ก็มีห้องของแผนกย่อยได้ สามารถเลือกคุยกลุ่มย่อยได้ก่อนไปคุยกลุ่มใหญ่ ทำให้จัดการการสนทนาได้ดีขึ้น เหมาะสำหรับการทำงานผ่านกรุ๊ปไลน์
  3. เปิด Video Call ในกรุ๊ปได้ เหมือนกับ Group Call ที่เปิดให้บริการแล้ว แต่อันนี้คุยกันเห็นหน้าทั้งกลุ่ม

ซึ่งเมื่อถามถึงกำหนดเปิดให้บริการในไทย คุณอริยะตอบได้แต่เพียงว่าจะให้เปิดบริการเร็วที่สุดที่ทำได้

คุณอริยะ พนมยงค์ (ขวา)

คุณอริยะ พนมยงค์ (ขวา)

ต่อมาทีมงานแบไต๋ถามถึงประเด็นกรุ๊ปไลน์ลับต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีฟีเจอร์ใหม่ๆ อย่าง Admin ที่ดูเหมือนจะเหมาะกับการสร้างกลุ่มเสียเงินถึงจะแจมได้ คุณอริยะก็ตอบว่า ปกติไลน์มีการมอนิเตอร์กลุ่มเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ผู้ใช้สามารถรีพอร์ตให้ไลน์จัดการได้ (ปุ่มรีพอร์ตจะมีหลังจากเราเข้าร่วมกลุ่มนั้นเอง) ซึ่งเป็นการช่วยให้ไลน์สามารถจัดการได้เร็วขึ้น เพราะทุกวันนี้มีกรุ๊ปเยอะมาก ไลน์ไม่สามารถจัดการทั้งหมดได้ทัน

อนาคตของบริการไลน์ในไทย

dsc08205

คุณอริยะเล่าว่าบริษัทใหญ่ๆ อำนาจการตัดสินมักจะอยู่ที่สำนักงานใหญ่ การพัฒนาก็จะรวมศูนย์อยู่ไม่กี่ที่ แต่ไลน์สามารถสร้างผลิตภัณฑ์โดยทีมไทย เพื่อให้เหมาะสมกับตลาดเฉพาะของไทยได้ เช่นบริการอย่าง LINE MAN ที่ออกแบบมาให้เหมาะสำหรับคนไทย เลือกร้านดังๆ ริมถนนมาส่ง แทนที่จะมีเฉพาะร้านเซนใหญ่ๆ เหมือนบริการเดลิเวอรี่ในต่างประเทศ

dsc08184

ส่วนบริการของไลน์ที่มีเฉพาะในประเทศอื่นๆ ก็เช่นในญี่ปุ่นจะมีบริการของไลน์เพื่อหางาน แบบหาตามโลเคชั่นที่ผู้ใช้ใช้เลย เพื่อให้เดินเข้าไปคุยกับเจ้าของร้านได้เลย (วัยรุ่นญี่ปุ่นทำงานพาร์ทไทม์กันเยอะมาก บริการแบบนี้จึงตอบโจทย์) นอกจากนี้ยังมี LINE Live ที่เน้นรายการสด จัดกันให้ดูตลอด ซึ่งในไทย รายการสดจะรวมกับ LINE TV เพราะผู้บริโภคเราแตกต่างจากญี่ปุ่น เราจึงไม่สามารถทำไลฟ์ได้ตลอดเวลา จึงเอากับรวมกับ LINE TV ทำรายการสดเฉพาะในรายการที่คนติดตามดีกว่า

dsc08211

ในไทยคนใช้ line เยอะที่สุด ในหนึ่งวันใช้ไลน์ 70 นาที

เมื่อถามถึงเรื่องการแจ้งเตือนหรือ Notification ที่ตอนนี้ดูเหมือนผู้ใช้จำนวนมากเริ่มไม่สนใจการแจ้งเตือนของไลน์อีกต่อไป เพราะแต่ละวันมีข้อมูลเข้ามาเยอะมาก คุณอริยะก็ยังมองว่าต่อไปผู้ใช้จะสนใจการแจ้งเตือนของแอปไลน์มากขึ้น เพราะบริการต่างๆ สามารถสร้างบริการที่จบในไลน์ได้เลย เช่นบริการธนาคารที่ทำธุรกรรมได้จบในไลน์หรือ หรือบริการขายรถ ก็ส่งแจ้งเตือนรถคันที่กำลังดูอยู่ในแอปไลน์ คนจึงสนใจการแจ้งเตือนมากขึ้น เพราะมาจากบริการที่พวกเขาใช้เอง

ส่วนเทคโนโลยี Beacon ก็เหมาะกับ event มาก เพราะสามารถให้ข้อมูลกับผู้ใช้ได้โดยตรง เมื่อผู้ใช้ไปยืนอยู่ในบริเวณที่ผู้จัดงานอยากแจ้งข้อมูล หรือแจ้งโปรโมชั่น ก็สามารถส่งเนื้อหาให้ไปเด้งในไลน์ผู้ใช้ได้ ผู้ใช้ไม่ต้องติดตั้งแอปอะไรเพิ่มอีก

dsc08208