LINE ประเทศไทย ประกาศเตรียมพัฒนาฟีเจอร์ ‘Group Chat’ สำหรับใช้เพื่อการทำงาน และชีวิตส่วนตัว แต่ยังไม่ได้บอกว่าคืออะไร รับกับเทรนด์กลุ่มคนเจน Y ที่ใช้งาน Group Chat บน LINE เพื่อการทำงาน มากถึง 82%
นายนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่าจำนวนผู้ใช้ไลน์ในประเทศไทยส่วนใหญ่ตอนนี้คือ Gen Y (อายุ 28-42 ปี) ซึ่งในปัจจุบันกำลังเป็นประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยทำงาน โดยมีประชากรมากถึง 82% ที่ใช้ Group Chat ในไลน์เพื่อการทำงาน ซึ่งใช้ฟีเจอร์ LINE Call ควบคู่กันไปด้วย และมีมากถึง 88% ที่ใช้ LINE บนคอมพิวเตอร์ แถมยังเป็นกลุ่มที่มีช่วงเวลาการใช้งาน LINE นานที่สุดถึงประมาณ 100 นาทีต่อวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คน Gen Y ใช้ LINE เพื่อการทำงานจำนวนมาก
นายนรสิทธิ์กล่าวเพิ่มเติมว่าทาง LINE ได้มีแผนที่จะสำรวจ และวิจัยเรื่องการใช้งาน Group Chat ในเชิงลึก เพื่อนำมาพัฒนาฟีเจอร์ที่จะช่วยคนไทยให้สามารถใช้ LINE ได้ ทั้งสำหรับชีวิตส่วนตัวและการทำงาน แต่ยังคงความสมดุลและมีคุณภาพชีวิตที่ดี (Work-Life Balance) และยังมีแผนการนำเทคโนโลยี AI ทั้งในส่วนที่ LINE พัฒนาเองและจากภายนอก เข้ามาเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการใช้งานให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบัน AI ยังคงเป็นเรื่องที่ไกลตัว และอาจจะยังจับต้องไม่ได้ในวงกว้าง ทาง LINE อยากนำ AI มาเพื่อการใช้งานให้ทั่วถึงในกลุ่มผู้ใช้ทุกคน
โดยฟีเจอร์ที่กำลังจะเพิ่มเข้ามาสำหรับการใช้งานใน LINE นั้น นายนรสิทธิ์ยังไม่ได้มีการสรุปว่าฟีเจอร์ที่จะเพิ่มเข้ามานั้นคือฟีเจอร์ใด กล่าวเพียงแค่ว่า ฟีเจอร์ที่จะเพิ่มเข้ามานั้น จะเพิ่มให้กับระบบ Group Chat ที่มีอยู่เดิม และจะไม่เป็นการสร้างแอปใหม่สำหรับการทำงาน (แบบ LINE WORKS) และจะเป็นการพัฒนาในมุมมองของผู้ใช้ในไทยมากยิ่งขึ้น โดยจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างนักพัฒนาในประเทศไทย และการร่วมมือกับทาง LINE ที่ประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นฟีเจอร์นี้เป็นรูปเป็นร่างในช่วงปลายปีจนถึงต้นปีหน้า
โดยในปีนี้ LINE มีแผนพัฒนากลุ่มเครื่องมือภายใน LINE OA Plus อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น การออกเครื่องมือ MyCRM (ชื่ออาจจะเปลี่ยนแปลงในภายหลัง) สำหรับจัดการ บริหารความสัมพันธ์ลูกค้าด้วยฟีเจอร์ ฟังก์ชันเฉพาะด้านที่ครบครัน พร้อมพัฒนาปรับปรุงเครื่องมือเดิมอย่าง MyCustomer สำหรับการจัดเก็บและจัดการข้อมูลลูกค้า ด้วยการเพิ่มฟีเจอร์ให้ครบเครื่องเพื่อการทำธุรกิจด้วยดาต้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับโฉมใหม่เครื่องมือแMyRestaurant สำหรับการบริหาร จัดการธุรกิจร้านอาหาร ให้ตอบสนองตลาดได้ดีกว่าเดิม และมี LINE OA Store ร้านค้าสำหรับนักพัฒนา และเจ้าของธุรกิจ ที่จะให้เข้าไปเลือกซื้อปลั๊กอินเพิ่มเติมสำหรับนักพัฒนาอีกด้วย
โดย LINE ยังเตรียมพัฒนาให้ Myshop เป็นเครื่องมือพื้นฐานในการเปิดร้านสำหรับผู้ประกอบการไทยในทุกธุรกิจ เหมือนการสร้างเว็บไซต์ของแบรนด์ และการใช้ Marketplace เช่น Shopee และ Lazada ในการทำการตลาดควบคู่กัน เป็นต้น
ทั้งนี้ LINE ประเทศไทยมีแผนจะพัฒนาฟีเจอร์ใน Line OpenChat, LINE TODAY , LINE HORO และ Donation On LINE เพิ่มเติม เพื่อรับกับ Chat Economy ที่เกิดขึ้นภายในสังคมไทยในปัจจุบันอีกด้วย
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส