Mohammad Samawi อธิบดีกระทรวงเกษตรของจอร์แดน กล่าวว่า เพราะประเทศจอร์แดนถือเป็นประเทศหนึ่งที่เกิดฝนตกไม่มากนัก และเป็นประเทศยากจนของโลกในแง่ของปริมาณน้ำที่มีเพื่อใช้อุปโภคบริโภค เมื่อเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ จึงส่งผลให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา รวมถึงสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้รูปแบบการตกของฝนเปลี่ยนไป ผลค้างเคียงจึงเกิดกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดข้อจำกัด จึงต้องนำเทคโนโลยีฝนหลวงของไทยไปใช้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดฝนตกมากขึ้น

โดยเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้หารือกับ ดร. อากิฟ อัล ซูบี (Dr. Akef Al-Zoubi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรจอร์แดน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะดำเนินโครงการทำฝนหลวงในจอร์แดนให้เกิดผลใช้ได้จริง โดยมีบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการ ภายใต้โครงการการดัดแปรสภาพอากาศโดย “เทคโนโลยีฝนหลวง” และแผนงานดำเนินโครงการระยะ ๓ ปี นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะสานต่อเพื่อให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรต่อไปด้วย ฝ่ายจอร์แดนแสดงความประสงค์ที่จะมีความร่วมมือกับไทยทั้งด้านการเลี้ยงสัตว์ , การสร้างมาตรฐานด้านสุขอนามัยสัตว์และพืช ทั้งเพื่อการบริโภคภายในและเพื่อการส่งออก และ การเพิ่มปริมาณการนำเข้า – ส่งออกสินค้าอาหารระหว่างกัน ซึ่ง รมว. กษ. ได้แสดงความยินดีที่จะทำงานร่วมกันเพื่อให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรดังกล่าว ซึ่งจะช่วยขยายความร่วมมือด้านการเกษตรในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายสามารถแลกเปลี่ยนกันได้  และ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ ได้กล่าวถึงการปรับใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่เป็นแนวทางการพัฒนาของไทยมาอย่างต่อเนื่องจนเกิดผลสำเร็จในการพัฒนาที่ยั่งยืน  ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกในการพัฒนาเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SustainableDevelopment Goals – SDGs) ตามแนวทางของสหประชาชาติได้

โครงการฝนเทียม (เทคโนโลยีฝนเทียม) นั้นเกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์ใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร เมื่อปี พ.ศ. 2498 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อนทุกข์ยากของราษฎรและเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการพระราชดำริ “ฝนหลวง”(Artificial rain) ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไปและพระราชทานให้แก่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อใช้ช่วยเหลือประชาชนชาวไทย และเพื่อให้การทำฝนหลวงมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยก็ยังคงต้องพัฒนาองค์ความรู้และปรับปรุงเทคโนโลยีในการทำฝนหลวงอยู่เสมอ

นอกจากประเทศจอร์แดนแล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ยังทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้สิทธิบัตรฝนหลวงถ่ายทอดวิทยาการทำฝนหลวงให้ 3 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, แทนซาเนีย, และโอมาน แต่หลายประเทศไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่ากับประเทศจอร์แดน และทรงมีพระบรมราชานุญาตและโปรดเกล้าฯ ให้ขอรับสิทธิบัตรในต่างประเทศควบคู่ไปด้วย โดยปัจจุบันเทคโนโลยีฝนหลวงได้รับการจดสิทธิบัตรในหลายประเทศทั้ง เยอรมนี , ฮ่องกง , สหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศในยุโรป (อ้างอิง : wikipedia)

rain

ปัจจุบันมีแหล่งน้ำให้ใช้ในจอร์แดน 800 – 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อคน 3 ล้านคนเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ ทางรัฐบาลของจอร์แดนเล็งเห็นความสำคัญ จึงได้ขอพระราชทานอนุญาตนำ เทคโนโลยีฝนเทียม ของไทยไปใช้ ซึ่งพระองค์ก็ยินดีให้นำไปใช้เพื่อให้นำความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการทำฝนเทียมไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับเอเชียตะวันออก ซึ่งโครงการฝนเทียมในจอร์แดนได้รับการสนับสนุนโดย Royal Jordanian Air Force, the Ministry of Water และ Ministry of Agriculture ของจอร์แดน

ทางประเทศจอร์แดนเองเคยคิดที่จะทำฝนเทียมด้วยตัวเองในช่วงปี 1989 – 1995 แต่ก็พบกับข้อจำกัดและปัญหาหลายอย่างจนทำให้ไม่สามารถทำการคิดค้นได้ ซึ่งการทำฝนเทียมนั้นจะต้องใช้สารเคมีโปรยไปยังก้อนเมฆเพื่อเพิ่มความชื้นจนตกลงมากลายเป็นฝน

(อ้างอิง : incarabia)