ถ้าพูดถึงหลอดไฟ โคมไฟที่ปรับสีได้ แบรนด์ที่ขึ้นชื่อที่สุดแบรนด์หนึ่งในตลาดโลกคือ Philips Hue นะครับ เมื่อวันที่ 31 ต.ค. ที่ผ่านมาทาง บริษัท ซิกนิฟาย คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) ผู้บริหารจัดการแบรนด์ฟิลิปส์ (Philips) สำหรับผลิตภัณฑ์กลุ่มแสงสว่าง ได้จัดงานแถลงข่าวเพื่อโชว์ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่จะนำเข้ามาทำตลาดในไทย ซึ่งในงานนี้แบไต๋ได้พูดคุยกับทีมผู้บริหารของ Signify เกี่ยวกับอนาคตของ Philips Hue ในไทยด้วย
Philips Hue เป็นหนึ่งในแบรนด์ของ Signify ที่เน้นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับหลอดไฟ โคมไฟ หรือชุดไฟที่ปรับแสงสีสำหรับใช้ในบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นที่รองรับการสั่งงานไฟแบบซับซ้อนได้ เช่นซิงก์กับเสียงเพลงที่เล่นผ่าน Spotify เพื่อปรับแสงสีในห้องให้เป็นไปตามเสียง หรือซิงก์กับภาพที่แสดงบนจอคอมพิวเตอร์หรือจอทีวี เพื่อปรับแสงสีของห้องตามภาพ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกสี ปรับสีผ่านแอป สั่งผ่านผู้ช่วยอัจฉริยะ หรือกดใช้ผ่านรีโมตง่าย ๆ ก็ได้
Philips Hue เปิดตัวอุปกรณ์ใหม่
โดย Philips Hue เริ่มทำตลาดในไทยมาตั้งแต่ปี 2018 และค่อย ๆ เพิ่มชุดอุปกรณ์ที่นำเข้ามาขายในไทยเรื่อย ๆ จนภายในงานนี้ได้เปิดตัวอุปกรณ์อีก 4 ที่เข้ามาเสริมให้การใช้งานในบ้านสนุกขึ้นคือ
Philips hue Play HDMI Sync Box
กล่อง sync ภาพและเสียงจากแหล่งภาพ เช่น Apple TV, Chromecast, Android box, AIS playbox, True ID box และ Console เกมทุกค่าย เพื่อทำให้ระบบไฟ Philips Hue สามารถ sync แสงไปกับภาพและเสียงได้โดยมีช่อง HDMI in มาให้ถึง 4 ports เพื่อให้เชื่อมต่อหลายอุปกรณ์ผ่านกล่องนี้ได้
Philips hue Play Gradient Strip for TV
ไฟเส้นอัจฉริยะ 16 ล้านเฉดสีที่สามารถไล่หลายเฉดสีในเส้นเดียวสำหรับติดกับหลัง TV ทั่วไปขนาดจอ 55”-60” เพื่อแสดงแสงได้ตรงตามภาพในแต่ละมุมขอบของจอ โดยต้องใช้คู่กับ Philips Hue Sync Box
Philips hue Play Gradient Strip for PC
ไฟเส้นอัจฉริยะ 16 ล้านเฉดสีที่สามารถไล่หลายเฉดสีในเส้นเดียวสำหรับติดกับหลังจอมอนิเตอร์ PC ทั่วไป เพื่อแสดงแสงได้ตรงตามภาพในแต่ละมุมขอบของจอ PC มีมาให้เลือกทั้งแบบสำหรับจอเดียวขนาด 24-27, จอเดียวขนาด 32-34 และขนาด 24-27 แบบ 3 จอติด
Philips hue Play Light Bar
ไฟแท่งอัจฉริยะ 16 ล้านเฉดสีที่ปรับใช้ได้ทั้งแนวตั้ง แนวนอน และยึดติดหลัง TV เสริม Ambience การดูหนังฟังเพลงเล่นเกมในจุดที่คุณต้องการ โดยต้องใช้ร่วมกับ Philips Hue bridge
โดยมีการรับประกันสินค้านาน 2 ปี พร้อมบริการหลังการขายที่เชื่อถือได้ รวมถึงการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านตัวแทนและร้านค้าต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ Philips lighting Official Store ทั้งใน Shopee และ Lazada , ร้านค้าตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟิลิปส์บนออนไลน์, Homepro, Power Buy, Power Mall บุญถาวร และร้าน DotLife
คุยกับผู้บริหาร
ในงานนี้แบไต๋ยังได้พูดคุยกับคุณจาร์กันนาธาน ศรีนิวาสัน กรรมการผู้จัดการ, คุณรณวิทย์ ศรฤทธิ์ชิงชัย ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและการตลาด และคุณประภาพร วงศ์สิโรจน์กุล ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ Philips Hue จากบริษัท ซิกนิฟาย คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) เริ่มจากประเด็นสำคัญ
ทำไม Philips Hue ในไทยถึงมีรุ่นให้เลือกน้อยกว่าต่างประเทศ (มาก)?
เรื่องนี้คุณจาร์กันนาธารอธิบายว่า การตัดสินใจนำ Philips Hue รุ่นใดเข้ามาขายในไทยบ้าง ตลาดต้องพร้อมก่อน ซึ่งตลาดไทยค่อนข้างพร้อมแล้วในปัจจุบัน จากการใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ตโฟนที่มากขึ้น และฐานผู้ใช้ Hue ที่ค่อย ๆ เพิ่มสูงขึ้นในไทย ซึ่งหลังจาก Signify เปิดตัว Philips Hue ในไทยไปตั้งแต่ปี 2018 เราก็มีแผนจะนำเข้าผลิตภัณฑ์รุ่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น แต่โควิดก็เป็นหนึ่งในอุปสรรคทำให้การนำเข้าสินค้าใหม่ชะงักไปหลายปี รวมถึงปัญหาคนจับจ่ายน้อยลงด้วย เราจึงมาเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในปีนี้
ข้อมูลที่น่าสนใจจากคุณจาร์กันนาธารคือ Signify มีข้อมูลภาพรวมอยู่ว่าแต่ละประเทศมีคนเปิดใช้งาน Philips Hue Bridge เท่าไหร่ จากการลงทะเบียนผ่านแอป ซึ่ง Bridge คือกล่องสั่งงาน Philips Hue สำหรับบ้านที่ต้องการควบคุมแสงอย่างละเอียด หรือมีไฟหลาย ๆ ดวง ต้องมี Bridge เป็นศูนย์กลาง ซึ่งก็จะใช้ข้อมูลนี้ในการวางแผนนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่อไป ซึ่งตอนนี้เรานำเข้าผลิตภัณฑ์กลุ่ม Entertainment มาในไทยแล้ว อนาคตกลุ่มไฟสำหรับติดตั้งนอกบ้าน (Outdoor) หรือไฟตกแต่งรูปแบบอื่น ๆ จะตามเข้ามา
ทำไม Philips hue Play Gradient Strip for TV ถึงมีขายแต่รุ่นสำหรับทีวี 55 นิ้ว?
ประเด็นนี้คุณประภาพรตอบเราว่า ทาง Signify ได้สำรวจตลาดและพบว่าทีวีขนาด 55 นิ้วเป็นรุ่นยอดนิยมในไทย จึงนำเข้ารุ่นนี้มาขายก่อน ส่วนในอนาคตอาจมีการนำเข้ารุ่นสำหรับทีวี 65 นิ้วมาเพิ่มเติม ซึ่งก็ต้องดูผลตอบรับจากตลาดต่อไป เพราะการนำเข้าสินค้าแต่ละรุ่นจะมีเรื่องต้องจัดการเยอะ ทั้งการขออนุญาต การตรวจสอบมาตรฐาน หรือการคาดการณ์สินค้าที่จะขายได้
เราจะซิงก์ภาพที่ทีวีแสดงไปออกเป็นแสงไฟได้อย่างไร?
การเปลี่ยนจากภาพเป็นแสงหลอดไฟปกติแล้วจะต้องใช้งานผ่าน Philips Hue Play HDMI Sync Box คือผู้ใช้จะต้องมีกล่องเล่นเนื้อหาอื่น ๆ เช่นเปิดหนังจากกล่อง Apple TV ไปออกจากทีวี หรือเปิดเกมจาก PlayStation 5 ไปขึ้นทีวี แล้วเอากล่อง Phlips Hue มาคั่นกลางเพื่อแกะสัญญาณภาพออกไปใช้
คุณรณวิทย์จึงให้ข้อมูลเสริมกับเราว่า สำหรับคนที่ดูเนื้อหาผ่านแอปในทีวีโดยตรง Philips Hue ก็มีการร่วมมือกับแบรนด์อย่าง Samsung ที่ทีวีเกรดเรือธงรุ่นล่าสุด (ซึ่งยังไม่เข้าไทยตอนนี้) ตัวทีวีจะมีแอปเพื่อดักสัญญาณภาพออกไปแสดงสีกับหลอด Philips Hue ได้ทันที เพียงแต่ว่าการใช้แอป จะใช้กับแอปที่มี DRM หรือระบบล็อกลิขสิทธิ์ภาพอย่าง Netflix, Disney+ ไม่ได้ เพราะแอปอ่านข้อมูลภาพไม่ได้ ซึ่งในกรณีแบบนี้ต้องใช้กล่อง Sync Box แทน
ส่วนทีวีแบรนด์อื่น ๆ ก็ต้องใช้แอปจาก 3rd Party ไปก่อนครับ อย่าง Android TV จะมีแอป Hue Sync ที่นักพัฒนาภายนอกเขียนขึ้นมาเหมือนกัน ซึ่งก็ใช้ดักสีในหน้าจอได้เช่นกันครับ
Philips Hue กับ Wiz วางกลุ่มการตลาดแตกต่างกันอย่างไร?
Signify มีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ไฟหลากสีที่ขายในไทยอยู่ 2 แบรนด์คือ Philips Hue กับ Wiz ซึ่งคุณรณวิทย์ให้ข้อมูลกับเราว่า Wiz จะเจาะกลุ่ม main steam เพราะราคาอุปกรณ์ถูกกว่า ทำงานบน Wifi ลูกเล่นและแอปต่าง ๆ จึงไม่มากเท่า Philips Hue ที่มีราคาสูงกว่า และใช้การสื่อสารกับหลอดไฟต่าง ๆ ผ่าน Zigbee ที่ต้องใช้ Philips Hue Bridge เป็นตัวกลางในการส่งสัญญาณ
ซึ่งอุปกรณ์ของ Wiz กับ Philips Hue จะใช้งานข้ามกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มต้นลงระบบไปแล้วกับ Wiz แล้วอยากอัปเกรดไปใช้ระบบที่ลูกเล่นมากขึ้นอย่าง Philips Hue ก็จะทำไม่ได้ ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่
Philips Hue กับ Matter ทำงานร่วมกันอย่างไร?
คุณประภาพร อธิบายให้เราฟังว่า Matter ทำหน้าที่เหมือนเป็นภาษากลางสำหรับโลก IoT ตอนนี้ เพราะในอดีตที่ผ่านมามีปัญหาว่าอุปกรณ์แต่ละแบรนด์ แต่ละค่าย ก็ต้องใช้แอปแยก อินเทอร์เฟซแยกกัน ทำให้วุ่นวายสับสนเวลาใช้งาน ฝั่งผู้พัฒนาเองก็ต้องเขียนโค้ดแยกกันไปหมด เช่นเขียนโค้ดคุยกับ Apple Homekit คุยกับ Google Home หรือคุยกับ Samsung SmartThings ฯลฯ ต่อไปเขียนโค้ดผ่าน Matter ก็สามารถทำงานร่วมกันได้แล้ว ซึ่ง Matter เองก็มีบริษัทใหญ่ ๆ ในโลก IoT อย่าง Apple, Google, LG, Samsung รวมถึง Signify เป็น Promoter ด้วย
อุปกรณ์ที่รองรับ Matter อย่าง Philips Hue จึงทำให้ใช้กับระบบสั่งงานอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น เข้าถึงระบบนิเวศน์ IoT ได้กว้างขึ้น แอปอื่น ๆ ก็สามารถสั่ง Hue ในบ้านให้เปิด-ปิดไฟ เปลี่ยนสีง่าย ๆ ด้ แต่การทำงานบางอย่างที่ซับซ้อน มีความเฉพาะตัว อย่างการเซ็ตไฟให้เต้นตามเพลง หรือการซิงก์สีกับภาพ ก็ต้องสั่งงานผ่านแอปของ Philips Hue อยู่ดี
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส