หลายคนอาจพอรู้ว่า Sony นั้นมีโรงงานผลิตในไทยมานานหลายสิบปีแล้วนะครับ ซึ่งปัจจุบันสินค้าอย่างกล้องถ่ายรูปตระกูล Sony Alpha หรือสมาร์ตโฟนตระกูล Sony Xperia ก็ผลิตในไทย แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าไทยเราก็เป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโซนี่เช่นเดียวกัน ซึ่งล่าสุด Sony Device Technology ประเทศไทย (SDT) บริษัทในเครือของ Sony Semiconductor Solutions (SSS) ได้เปิดตัวอาคารผลิตเซมิคอนดักเตอร์แห่งใหม่ ซึ่งเป็นอาคารที่ 4 แล้วในสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จ.ปทุมธานี ซึ่งทีมงาน BT ก็ได้มีโอกาสไปร่วมงานเปิดตัวในครั้งนี้ครับ
เข้าใจธุรกิจของโซนี่ก่อน
Sony เป็นกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นนะครับ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 6 ธุรกิจหลักคือ
- เกมและบริการเครือข่าย โดยบริษัท Sony Interactive Entertainment
- เพลง โดยกลุ่ม Sony Music
- ภาพยนตร์ โดยบริษัท Sony Pictures Entertainment
- กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าโซนี่ ความบันเทิง, เทคโนโลยี, บริการต่าง ๆ โดย Sony Corporation
- กลุ่มงานด้านภาพ (Imaging) และการรับรู้ (Sensing) โดยบริษัท Sony Semiconductor Solutions
- กลุ่มการเงิน โดย Sony Financial Group
ซึ่งวันนี้ที่เรามาดูโรงงานกันคือกลุ่มที่ 5 นั้นเองครับ ซึ่งเป็นการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายให้บริษัทอื่น ๆ เอาไปใช้งานต่อ ไม่ได้เป็นการผลิตสินค้าถึงมือลูกค้าโดยตรง
Sony Device Technology ปักหลักในไทยกว่า 30 ปี
ประวัติของ SDT ในไทยเล่าย้อนไปได้ถึงปีพ.ศ. 2531 เลยครับ เมื่อเริ่มมาตั้งฐานในไทย โดยเริ่มต้นจากการผลิต IC หรือแผงวงจรรวม จากนั้นอีกสิบกว่าปี อาคาร 2 ก็เปิดในปี พ.ศ. 2547 และอาคาร 3 เปิดต่อเนื่องมาในปี 2550 เพื่อรองรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ
จนปี 2565 ก็เริ่มสร้างอาคาร 4 จนมาเสร็จเรียบร้อยในปี 2567 นี้ครับ โดยอาคารใหม่แห่งนี้ได้ก่อสร้างขึ้นด้วยด้วยเงินลงทุน 2,380 ล้านบาท มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 66,370 ตารางเมตรใน 4 ชั้น และมีห้อง Clean Room สำหรับการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 26,400 ตารางเมตร เมื่อขยายเต็มทุกชั้น
ปัจจุบัน SDT มีพนักงาน 1,600 คน และจะเพิ่มขึ้นได้ถึง 3,000 คน เมื่อเปิดไลน์การผลิตทั้งหมด
ไทยเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เพียงแห่งเดียวของโซนี่นอกญี่ปุ่น
วิกฤตหนักที่สุดของบริษัทคือปี 2554 เจอน้ำท่วมใหญ่ โรงงานในบางกะดีเสียหายกันหนัก จึงมีย้ายการผลิตไปที่โรงงานชั่วคราวที่บางนาในปี 2555 ซึ่งกว่าจะซ่อมแซมโรงงานที่บางกะดีเรียบร้อยก็ปี 2559 ครับ ซ่อมกันอยู่ 4 ปี เพราะเครื่องจักรการผลิตเหล่านี้ไม่ใช่จะทดแทนกันได้ง่าย ๆ แต่คุณ Terushi Shimizu ซีอีโอของ Sony Semiconductor Solutions ก็เล่าในงานเปิดตัวอาคาร 4 ครั้งนี้ว่า ช่วงนั้นต้องมาที่ไทยบ่อยมากเพื่อแก้ไขปัญหานี้ แต่ด้วยความช่วยเหลือจากหลากหลายหน่วยงาน ทั้ง BOI, เมืองบางกะดีเอง รวมถึงหน่วยงานของญี่ปุ่นในไทย ทำให้ SDT ผ่านวิกฤตครั้งนี้มาได้ และยังใช้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญต่อไป
โรงงานใหม่ของ SDT ผลิตอะไร
โซนี่อธิบายว่าอาคาร 4 มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นโรงงานประกอบเซ็นเซอร์ภาพ (Image Sensors) สำหรับการใช้งานในยานยนต์ นอกจากนี้ยังผลิตจอแสดงผลขนาดเล็ก (Micro Display) เช่นที่ใช้ใน EVF ของกล้อง หรือแว่น VR โดยคาดว่าทั้ง 2 อุปกรณ์หลักดังกล่าวนั้น จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาด นอกจากนี้ยังผลิต Laser Diode ชนิดใหม่สำหรับการใช้งานเป็นหัวอ่านฮาร์ดดิสก์ด้วย ซึ่งเรามาเจาะลึกแต่ละอย่างกันครับ
Image Sensors
โซนี่นั้นขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเซนเซอร์รับภาพมายาวนาน เราได้ยินกล้องมือถือใช้เซนเซอร์ Sony IMX กันบ่อยมาก แต่เซนเซอร์ที่ใช้ในกล้องมือถือนั้นผลิตที่ญี่ปุ่นครับ ส่วนเซนเซอร์ที่ “ประกอบ” ในไทยจะเป็นเซนเซอร์สำหรับกล้องถ่ายรูป และในอาคาร 4 ก็จะขยายการประกอบเซนเซอร์สำหรับรถยนต์มากขึ้น
ที่ใช้คำว่า “ประกอบ” แทนคำว่า “ผลิต” เพราะว่าโรงงานของ SDT ในไทยจะนำแผ่นเวเฟอร์ที่ทำสำเร็จแล้วจากโรงงานโซนี่ที่ญี่ปุ่น มาประกอบให้เป็นเซนเซอร์รับภาพที่สมบูรณ์ ซึ่งถ้าใครอยู่ในวงการกล้องจะรู้ว่าเซนเซอร์รับภาพนั้นมีรายละเอียดมากมาย ทั้งส่วนที่รับแสง แผงวงจรรวมที่ฝังอยู่ในเซนเซอร์รับภาพเพื่อเก็บค่าแสงออกมาและอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดก็ได้รับการประกอบที่นี่ครับ
ที่ผ่านมาเซนเซอร์ของ Sony ก็ได้รับการยอมรับที่ดีจากตลาด เพราะมีคุณสมบัติที่ดี รองรับไดนามิกของแสงสูง ใช้งานในที่แสงน้อยได้ หรือมีการออกแบบจนแก้ไขปัญหาการรับแสงจากป้าย LED แล้วกระพริบได้ จึงเอาไปใช้งานเป็นตาของรถยนต์ได้
นอกจากนี้ SDT ประเทศไทยยังทำเซนเซอร์ในกลุ่ม Sensing ด้วย คือเซนเซอร์ที่เราไม่ได้ต้องการภาพสวย ๆ แต่เป็นเซนเซอร์ที่ต้องการข้อมูลเอามาใช้ต่อ เช่นเซนเซอร์วัดความลึก เซนเซอร์วัดระยะต่าง ๆ ซึ่งต้องการมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่กำลังพัฒนาให้ขับเคลื่อนได้เอง หรืออุตสาหกรรมแว่น VR ที่ต้องการเซนเซอร์ตรวจจับมือ ตรวจจับดวงตา ทั้งหมดนี้ SDT ก็ผลิตครับ
Micro Display
จอขนาดเล็กนี้เราเริ่มเห็นกันในจอ EVF (Electronic Viewfinder) ของกล้องดิจิทัล ซึ่งพอเป็นยุคกล้อง Mirrorless ก็ต้องใช้จอ Micro Display นี้กันหมด ซึ่งก็พัฒนาให้แสดงภาพได้คมชัดมากแม้ว่าจะมีขนาดจอเล็กนิดเดียวมายาวนาน เพื่อให้ช่างภาพได้เห็นภาพเหมือนที่เห็นผ่านกระจกในกล้อง SLR
จนมาถึงปัจจุบันก็มาถึงยุคของแว่น VR เรายิ่งต้องการจอขนาดเล็กที่มีสเปกเทพ ซึ่งปัจจุบัน SDT ก็สามารถผลิตจอเล็กแบบนี้ให้มีความละเอียดสูงถึง 4K ได้ และมี Refresh Rate ที่สูงได้ ซึ่งก็มีข่าวว่า Apple Vision Pro ก็ใช้จอของโซนี่นี่แหละ แต่เราไปถามคนใน SDT ก็ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่สามารถอ้างถึงลูกค้าได้
New Laser Diode
หัวเลเซอร์ไดโอดใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตฮาร์ดดิกส์ เพื่อทำให้ความจุ HDD สูงขึ้น ซึ่งถ้าความจุ HDD ไม่สูงขึ้น ขนาดของ Data Center ก็ต้องใหญ่ขึ้น ซึ่งการพัฒนาให้ HDD ความจุสูงขึ้นจึงทำให้ดีต่อสิ่งแวดล้อม
Sony จึงร่วมมือกับ Seagate พัฒนาหัวเขียน Laser diode ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี HAMR (Heat Assisted Magnetic Recording) ทำให้สร้างฮาร์ดดิสก์ระดับ 30 TB+ ได้ ซึ่งตอนนี้โซนี่เป็นแบรนด์เดียวที่ผลิต Laser Diode ระดับนี้ได้
ซึ่งเมื่อดูสิ่งที่ SDT ผลิตในไทยแล้ว ก็จะสอดคล้องกับอุตสาหกรรมในประเทศไทยครับ คือเรามีโรงงานฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่ และมีโรงงานประกอบรถยนต์มากมายหลายแบรนด์ในประเทศ
ทำไม Sony Device Technology ถึงขยายฐานการผลิตในไทย
สำหรับประเด็นนี้ คุณ Takeshi Matsuda, Managing Director ของ SDT สรุปกับเราออกมาหลายข้อ
- เพราะได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาลไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ BOI
- ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีระบบไฟฟ้า ระบบน้ำที่เสถียร มีสนามบิน ถนน ท่าเรือ ซึ่ง SDT ขนส่งสินค้าผ่านเครื่องบินเป็นหลัก
- มีพันธมิตรเรื่องห่วงโซ่อุปทานที่ดี สามารถหาชิ้นส่วนที่มีต้นทุนต่ำได้
- มีแรงงานที่มีฝีมือในไทย และมีจุดได้เปรียบคือค่าใช้จ่าย เพราะกระบวนการประกอบต้องใช้แรงงานคนเป็นหลัก ยังไม่สามารถใช้เครื่องทำได้ ค่าจ้างในไทยถูกกว่าญี่ปุ่น ซึ่งมองว่าวิศวกรไทยกับญี่ปุ่นความสามารถไม่ต่างกัน จึงดีกว่าที่มาจ้างในไทย
- มีการสนับสนุนบริษัทญี่ปุ่นที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ เช่นสถานฑูต, สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น, องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น
- คนไทยเป็นมิตรกับชาวญี่ปุ่นอยู่เสมอ
- มีสภาพความเป็นอยู่ดีสำหรับชาวต่างชาติ
ส่วนในอนาคตจะมีแผนย้ายกระบวนการผลิตอื่น ๆ นอกจากงานประกอบมาที่ไทยไหม อันนี้ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต แต่ตอนนี้ก็นำเทคโนโลยีการประกอบใหม่ ๆ มาลงที่ไทยอยู่เสมอ
สุดท้ายเราได้ถามเกี่ยวกับแรงงานที่ SDT ต้องการ ก็ได้คำตอบว่าต้องการหลากหลาย ตั้งแต่ระดับช่างเทคนิค จบปวส. ช่างอิเล็กทรอนิกส์ไฟฟ้า, วิศวกรเครื่องกล ไฟฟ้า เทคโนโลยีการผลิต อิเล็กทรอนิกส์ หรือด้านไอทีก็รับ แน่นอนว่าเมื่อเข้ามาก็ต้องผ่านการฝึกอบรมเพิ่มเติม
BOI ขอบคุณ Sony ที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิต
ในช่วงพิธีเปิดโรงงานที่ 4 แห่งนี้ นอกจากคุณ Masato Otaka เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย จะขึ้นพูดชื่นชมความเอาจริงเอาจังของโซนี่ในการเปิดโรงงานที่ 4 แห่งนี้แล้ว คุณวิรัตน์ ธัชศฤงคารสกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ยังขึ้นพูดขอบคุณ Sony ที่เลือกไทยเป็นฐานการผลิต Semiconductor แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องมาตลอด 30 ปี โดยที่ผ่านมา 30 ปี ทาง BOI ได้สนับสนุน 17 โครงการของโซนี่มูลค่ารวมกว่า 22,000 ล้านบาท ทำให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 8,000 ตำแหน่งในไทย และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โซนี่ขยายการลงทุนเพิ่มอีก 1 โครงการ พร้อมขอรับการสนับสนุนจาก BOI ราว 5,000 ล้านบาท ซึ่ง BOI ก็พร้อมให้การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนที่ดีต่อไป