บริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ผู้สร้างเว็บที่อยู่ในใจคนไทยมานานอย่าง sanook.com ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 ธันวาคม พร้อมเผยวิสัยทัศน์ในปี 2560 เน้นสร้างแพลตฟอร์มด้านคอนเทนต์และบริการ (Content and Services Platforms) เพื่อตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริการออนไลน์

เว็บ Sanook.com นั้นก่อตั้งในไทยตั้งแต่ปี 1998 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่บริษัท Tencent ก่อตั้งในประเทศจีน โดยเทนเซ็นต์เข้ามามีส่วนร่วมกับสนุกตั้งแต่ปี 2010 จนถึงปัจจุบันเทนเซ็นต์ถือหุ้น 100% ของสนุก ซึ่งการที่บริษัทสนุก ออนไลน์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อสร้างภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าปัจจุบันสนุกไม่ได้มีแต่เว็บสนุก.คอมอย่างเดียว แต่มีบริการอย่าง Joox, เกมอย่าง Tencent Game และบริการอื่นๆ ให้บริการด้วย

กฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

แพลตฟอร์ม 3 กลุ่มหลักของ เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย)

  1. News & Portal
    1. Sanook.com เว็บไซต์ด้านเนื้อหาที่ให้บริการมา 18 ปี และปรับปรุงรูปแบบให้เข้ากับรูปแบบผู้บริโภคยุคใหม่เสมอ จากยุคอ่านบนคอมพิวเตอร์ สู่อ่านบนสมาร์ทโฟน
    2. NoozUp (นิวส์อัพ) แอปใหม่เพื่อเกาะกระแสข้อมูล ข่าวสาร สำหรับกลุ่มคนเมือง คนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า FOMO – Fear Of Missing Out หรือคนที่กลัวตกกระแส
  2. Entertainment & Multimedia Platforms
    1. JOOX บริการสตรีมเพลงลิขสิทธิ์ยอดนิยม พร้อมฟีเจอร์ใหม่ V Station เนื้อหาไลฟ์ที่สามารถพูดคุยกับศิลปินได้ทันที
    2. เกมบนสมาร์ทโฟนจาก Tencent Games เช่นเกม Ultimate Legends, Ultimate Race
  3. Services – บริการด้านเอเจนซี่โฆษณาจาก Topspace ที่เชี่ยวชาญการทำตลาดในจีน เปิดช่องให้ผู้ค้าไทยสามารถลงโฆษณา โปรโมตผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat ในตลาดจีนได้

ตัวเลขที่น่าสนใจในรอบปีของ Sanook

ศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเนื้อหา บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด

ตอนนี้เทนเซ็นต์มุ่งพัฒนาธุรกิจเนื้อหาเป็นหลัก โดยคุณต่าย-ศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ หัวหน้าฝ่ายธุรกิจเนื้อหา บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้แชร์ตัวเลขที่น่าสนใจต่างๆ ในปีที่ผ่านมาของ Sanook ครับ

  • ตอนนี้คนไทยเข้าเว็บ Sanook 36 ล้านคน ต่อเดือน
  • เข้ามาผ่านโมบาย 70%
  • เข้าผ่าน Social 40%
  • ส่วนใหญ่ 62% เป็นผู้หญิง
  • โดยกลุ่มอายุ 25-34, 35-44 ถือเป็นกลุ่มใหญ่
  • ใช้เวลาในการอ่านเนื้อหาราว 9 นาทีต่อการเข้า 1 ครั้ง
  • คนไทยนิยมตรวจหวย ดูดวง แล้วก็ค้นหาคำศัพท์ ซึ่งถ้าค้นผ่าน Google จะเห็นเว็บสนุกเป็นอันดับต้นๆ

แผนเนื้อหาปี 2017

ในส่วนของปีหน้า เทนเซ็นต์ มีแผนเปิดบริการอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นอาจเป็นบริการเกี่ยวกับโซเซี่ยลหรือเนื้อหาที่ผู้ใช้สร้างสรรค์ขึ้นมา (UGC – User Generated Content) แต่ยังไม่พร้อมให้รายละเอียดตอนนี้ ส่วนบริการใหม่ๆ ที่ประกาศแล้วคือ

  1. Online learning – learning.sanook.com ที่ร่วมกับ SkillLane ส่งคอร์สออนไลน์ให้ได้เรียนกัน
  2. ม่วน – บริการเนื้อหาสำหรับผู้ใช้ในลาว เพราะที่ผ่านมาผู้ใช้จากลาวเข้าเว็บสนุกเป็นอันดับ 2 ของผู้ใช้ทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เนื้อหา 60% แปลจากไทย และอีก 40% เป็นเนื้อหาท้องถิ่นจากลาวที่ร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่น
  3. Sanook moshi moshi comic – การ์ตูนสำหรับอ่านบนสมาร์ทโฟน ร่วมกับ ookbee comic โดยเจาะกลุ่มผู้ใช้อายุน้อย

ซึ่งการ Tencent มีช่องทางนำเสนอสื่อหลายแบบทำให้สามารถสร้าง Branded Content ครอบคลุมหลายช่องทางได้ เช่นร้านอาหาร Andrey สามารถแนะนำร้านผ่าน Sanook หรือแอปค้นหาร้านอาหารอย่าง Pick แล้วสร้างเพลย์ลิสเพลงบรรยากาศร้านใน Joox หรือนำเสนอข่าวอัปเดทผ่านแอป Noozup ซึ่งทำให้ตอบสนองความต้องการของแบรนด์ได้ และเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัท

ถามตอบกับคุณกฤตธี มโนลีหกุล

คิดว่าภาพลักษณ์ของ Tencent เป็นอย่างไรในสายตาผู้ใช้ไทย

น่าจะไม่มีภาพลักษณ์ที่เสียหายอะไร ผู้ใช้จะจำภาพผลิตภัณฑ์อย่าง Joox, Sanook มากกว่าชื่อ Tencent ส่วนบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีมองภาพมองภาพ Tencent ดีอยู่แล้ว เพราะมีเครดิตระดับโลก และลงทุนในบริษัทชั้นนำมากมายอย่าง Supercell ที่สร้างเกม Clash of Clans ส่วนบริษัทต่างๆ ที่เคยทำธุรกิจกับเรา ก็กำลังให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่น

ธุรกิจเกมของ Tencent จะบุกไทยอย่างไรต่อไป

อาจจะเอา web game มาในอนาคต นอกเหนือจาก Mobile game ซึ่งก็ต้องคุยกับ tencent game ว่าเกมไหนจะเหมาะกับไทย แต่ยังไม่ได้เน้น VR/AR ตอนนี้ เพราะตลาดยังเล็กอยู่

มีแผนจะนำบริการส่วนอื่นๆ ของ Tencent บุกไทยหรือไม่ เช่นการเงิน

ยังไม่ได้โฟกัสมาก ตอนนี้เน้นบริการด้านเนื้อหาเป็นหลักก่อน