หลังจากที่ Amazon Web Services (AWS) เคยประกาศแผนการลงทุนใน AWS Region โครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ก็มีการเปิดให้บริการตามมาใน 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย และล่าสุดก็ถึงคิวของประเทศไทย เมื่อมีการประกาศเปิดตัว AWS Asia Pacific (Bangkok) Region อย่างเป็นทางการภายในงาน AWS Summit Bangkok ในวันที่ 30 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

โดย AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ที่เปิดตัวในครั้งนี้ จะพร้อมให้บริการในช่วงต้นปี 2568 ให้แก่นักพัฒนา สตาร์ตอัป ผู้ประกอบการ และองค์กรต่าง ๆ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และองค์กรไม่แสวงผลกําไร เพื่อใช้ในการรันแอปพลิเคชัน หรือการเข้าถึงข้อมูลบนคลาวด์ได้รวดเร็ว จากค่าความหน่วงที่ลดลง (Latency) และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า เนื่องจากโครงข่ายทั้งหมดตั้งอยู่ภายในประเทศไทย

การลงทุนของ AWS ในระบบคลาวด์กับประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่ประกาศงบลงทุนกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 190,000 ล้านบาท ไปเมื่อปี 2565 ก็มีโครงการเกิดขึ้นมาแล้วหลายส่วนตั้งแต่ Amazon CloudFront, AWS Outposts และยังมี AWS Local Zone ที่เปิดให้บริการในไทยมาก่อนหน้านี้ รวมถึง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region ที่เพิ่งเปิดตัวไป

นอกจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบคลาวด์ AWS ยังตั้งเป้าในการฝึกอบรมบุคลากรทั่วโลกกว่า 29 ล้านคน ซึ่งทำตามเป้าหมายไปได้แล้วกว่า 21 ล้านคน โดยบุคลากรในไทยได้รับการฝึกไปแล้วกว่า 50,000 คน นับตั้งแต่ปี 2560 และจะฝึกอบรมให้ถึง 100,000 คนภายในปี 2569 ทั้งนี้ AWS ได้ร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES), กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (MHESI), และองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในภาคเอกชน เช่น CPF และกลุ่มเซ็นทรัล ไปจนถึงโปรแกรมฝึกอบรมและการรับรองมาตรฐานของ AWS อีกมากมาย

ในเดือนพฤศจิกายน 2566 บริษัท Amazon ได้เปิดตัวโครงการ ‘AI Ready’ นำเสนอหลักสูตรฝึกอบรมด้าน AI และ Generative AI แบบไม่เสียค่าใช้จ่าย ที่เหมาะกับผู้เรียนไม่ว่าจะต้องการเน้นทักษะเทคนิคเฉพาะทางหรือไม่ก็ตาม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเสริมสร้างทักษะด้าน AI และยังมี AWS Academy ช่วยให้สถาบันอุดมศึกษาเข้าถึงหลักสูตรด้านคลาวด์ที่พร้อมสอนฟรี ซึ่งเตรียมความพร้อมให้นักเรียนสามารถสอบเพื่อรับใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมและสายงานคลาวด์ที่เป็นที่ต้องการ โดยปัจจุบันมีนักศึกษาจาก 26 สถาบันในประเทศไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น รวมถึงมี AWS Skill Builder ซึ่งเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่มีหลักสูตรออนไลน์ด้านทักษะคลาวด์ฟรีมากกว่า 600 หลักสูตร รวมถึง 62 หลักสูตรที่เป็นภาษาไทย

สุดท้ายยังมีข้อมูลจากประธานเปิดงาน นายก เศรษฐา ทวีสิน ที่บอกว่าปีที่ผ่านมา 2566 ไทยได้ส่วนแบ่งการลงทุนจาก AWS มากว่า 1.1 หมื่นล้านบาท พร้อมเผยว่า การลงทุนครั้งนี้ช่วยเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพิ่มโอกาส และความสามารถในการแข่งขันของไทย และส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจ ผู้ประกอบการ และสตาร์ตอัปไทยนับพันราย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของนโยบาย Cloud First ที่สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่า AWS Thailand Region จะสนับสนุนโอกาสทางเศรษฐกิจ เสริมสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรของเรา รวมถึงขับเคลื่อนนวัตกรรม รัฐบาลพร้อมที่จะร่วมมือกับ AWS เพื่อดึงศักยภาพและสร้างประโยชน์สูงสุดจากการพัฒนาครั้งนี้ไปสู่ประชาชนชาวไทยทุกคน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ ผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก