CTC 2024 (Creative Talk Conference) Creative Generation มหกรรมรวบรวมเหล่าผู้ทรงอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ที่จะมาบอกเล่า “ความคิดสร้างสรรค์” พลังขับเคลื่อนเหนือนวัตกรรม ที่แทรกซึมอยู่ในทุกคน ในแง่บทเรียน ประสบการณ์ ฯลฯ โดยในช่วงเช้าของงานที่เป็นเซสชันหัวข้อ Half Year Trends หรือกระแสที่น่าสนใจในครึ่งปีแรก ก็ได้มีสปีกเกอร์มากด้วยประสบการณ์และฝีมือจำนวนมากมาแชร์เรื่องราวที่น่าสนใจนี้กัน อีกหนึ่งเซสชันที่ผู้เขียนรอคอยที่จะเข้าร่วมรับฟังคือ “Toxic Leadership ดูแลหัวใจไม่ให้ Toxic เคล็ดลับการเอาตัวรอดและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่คนเป็นพิษ” โดย เอิ้น พิยะดา หาชัยภูมิ ที่หลายคนอาจจะเคยรู้จักเธอในฐานะนักแต่งเพลงมากฝีมือ อาทิ เจ็บซ้ำซ้ำ, รักเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ หรือคำถาม ที่ในปัจจุบันเธอยังมีอีกหนึ่งบทบาทคือการเป็นจิตแพทย์หญิงที่พร้อมจะมาดีท็อกซ์ความ Toxic ในจิตใจของคน ว่าแท้จริงแล้วบุคคลที่แพร่สิ่งนี้ออกมา กลับน่าสงสารกว่าที่คิด

ก่อนอื่นเลย แพทย์หญิงเอิ้นอธิบายก่อนว่า Toxic People ในมุมจิตเวชศาสตร์ จริง ๆ แล้วมันคือโรคหรืออาการผิดปกติ ที่มีชื่อทางการแพทย์ว่า Personality Disorder (บุคลิกภาพที่ผิดปกติ) ที่เกิดจากการสั่งสมมาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการที่แสดงออกมักจะสร้างความเดือดร้อนให้คนรอบข้าง โดยผู้ที่เป็นจะไม่ได้ตระหนักรู้ว่าพฤติกรรมหรือนิสัยที่แสดงออกมาสร้างความเดือดร้อน กลับกัน คนรอบข้างต่างหากที่ทำให้เขาเป็นแบบนี้

ชุดความคิดของคนที่มีอาการผิดปกติดังกล่าวจะมีชุดความคิดที่แปลก เช่น อาจจะมีความคิดที่ว่าโลกนี้ไม่น่าไว้วางใจ ต้องทำอะไรปกป้องตัวเอง โดยจะมีความเชื่อบางอย่างมาครอบอุปนิสัยตัวเอง และจะแยกตัวออกจากสังคม มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง การได้ทำในสิ่งที่หมกมุ่นคือสิ่งที่โอเค สรุปคือคนที่มีความคิดที่แปลก และเชื่อในความคิดที่แปลกนั้น จะมีความต้องการบงการ หรือบ้างก็มีความผิดปกติทางด้านความกลัว กังวลง่าย ย้ำคิดย้ำทำ ผิดไม่ได้ พลาดไม่ได้ (Perfectionist)

ซึ่งก่อนที่แพทย์หญิงจะพาไปสู่หัวข้อถัดไป เธอก็ได้พูดสารบางอย่างที่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คุณเริ่มหยุดคิดได้ว่า “แท้จริงแล้ว เราทุกคนต่างมีความ Toxic ในตัวเอง ซึ่งบุคคลที่มี Toxic Behavior (พฤติกรรมที่สร้างความรู้สึกแย่ให้คนอื่น) การที่เขามีพฤติกรรมไม่น่ารัก ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นคนไม่น่ารัก”

แท้จริงแล้ว เราทุกคนต่างมีความ Toxic ในตัวเอง ซึ่งบุคคลที่มี Toxic Behavior (พฤติกรรมที่สร้างความรู้สึกแย่ให้คนอื่น) การที่เขามีพฤติกรรมไม่น่ารัก ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นคนไม่น่ารัก

เอิ้น พิยะดา หาชัยภูมิ จิตแพทย์นักแต่งเพลง ที่ปรึกษาด้าน People & Mindful Leadership

ทีนี้ในแง่องค์กร พนักงานหรือหัวหน้าที่มี Toxic Behavior จะสามารถแสดงออกมาได้ผ่านหลายการกระทำ เช่น มาทำงานสาย, การนินทาคนอื่น, ลาป่วยทั้งที่ไม่ป่วย, การขึ้นเสียงหรือใส่อารมณ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทุกการกระทำสามารถอธิบายในเชิงเหตุและผลได้ เช่น การบ่นคือการบรรเทาทุกข์ การนินทาคือกลัวคนอื่นได้ดีกว่า คนชอบควบคุมเพราะทุกข์จากความกลัว ไม่มั่นใจว่าตัวเองมีตัวตนในสายตาใครหรือเปล่า หรือหัวหน้าที่ขาดความรับผิดชอบ ขาดความชัดเจน แท้จริงแล้วลึก ๆ เขายังมีความรู้สึกผิดฝังอยู่ในใจจากเรื่องราวในอดีต

หากพินิจไปที่ต้นตอของการที่บุคคลหนึ่งจะมี Toxic Behavior ก็จะเห็นได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นน่าสงสารกว่าที่คิด แต่ในความเป็นจริงคนที่เก็บนำพฤติกรรมเป็นพิษต่าง ๆ มาทำร้ายตัวเองคือเราที่ยังไม่เข้าใจเขามากพอ ซึ่งวิธีการรักษาต้องแก้ที่ต้นเหตุ นั่นหมายถึงความทุกข์ที่เรารับมาแล้วมันเกิดขึ้นที่ใจของเรา ก็ต้องแก้ที่ใจเรา และนี่ คือ 4R โดสยาที่แพทย์หญิงเอิ้นจ่ายให้ไว้ใช้ขับสารพิษออกจากหัว

  • Recognize: เปิดใจในการรู้เท่าทันเหตุการณ์ รู้จักเขาด้วยการมองรูปแบบของพฤติกรรมให้ออก แยกให้ออกระหว่างพฤติกรรมกับตัวตน รู้จักตัวเองด้วยการรับรู้อารมณ์และความคิดของตัวเองตามความเป็นจริง เมื่อถูกตำหนิหรือต่อว่ามา พึงระลึกไว้ว่าเรามีสิทธิเสรีภาพความคิดในหัวที่จะโกรธเคือง แต่การแสดงออกทางความรู้สึกนั้นเราต้องยับยั้งมันไว้ ไม่ควรถูกส่งออกมาหรือส่งให้ใครที่ไม่ได้เป็นภัยกับเรา
  • Respond: มีสติในการตอบสนอง ไม่ไหลไปตามเกมของเขา บางทีการเพิกเฉยอาจะเป็นวิธีการรับมือที่ดีสุด อย่าไปเสียเวลาตอบสนองกับความรู้สึกที่ไม่สำคัญ ถ้าเราปล่อยให้เรื่องเล็ก ๆ มากวนใจได้ ก็ต้องกลับมาทบทวนว่า ที่เราไม่สามารถยับยั้งความรู้สึกได้ เป็นเพราะเราสูญเสียความมั่นใจ หรือเราไม่เห็นตัวเราเองในเรื่องนั้น ๆ หรือเปล่า ? หรือหากรับมือไม่ได้จริง ๆ จงเรียนรู้ถึงความขัดแย้งนั้น มองให้เห็นความทุกข์ของอีกฝ่ายที่แสดงออกมาเป็นพฤติกรรม Toxic, ใช้คำถามกับเขาอย่างเหมาะสม, ฟังให้ลึกซึ้ง, สื่อสารให้สร้างสรรค์ และขอความช่วยเหลือให้เหมาะสม
  • Refocus: มีปัญญาในการรีโฟกัส เรียนรู้จากตัวอย่างที่ไม่ดีที่เขาแสดงออกกับคุณ ซึ่งนั่นเป็นความโชคดีที่มีคนเสียสละตนเองเป็นกระจกให้เรา ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่เราจะไม่ทำ
  • Recharge: มีความสามารถในการรีชาร์จ เติมเต็มพลังของตัวเองในการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต เวลาที่เราเจอสถานการณ์หรือพฤติกรรมที่ Toxic หมายถึงเรากำลังจะต้องสูญเสียพลังงานชีวิตให้กับสิ่งนั้นมาก ๆ เราเลยมีความจำเป็นจะต้องกลับมาดูแลตัวเองและพลังชีวิตของเรา เรื่องที่หลายคนมองข้ามที่สุดคือการออกกำลังกาย เมื่อความเครียดรุมเร้า ร่างกายจะสั่งการให้เราจดจ่อกับมวลอารมณ์นั้น แต่หากเราฝืนตัวเอง ลุกขึ้นมาออกกำลังกาย สมองจะเปลี่ยนสิ่งที่จะต้องโฟกัส