เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม หัวเว่ยได้จัดงาน Huawei Cloud Summit Thailand งานแสดงความมุ่งมั่นและเทคโนโลยีของ Huawei Cloud ที่หมายมั่นจะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางคลาวด์ระดับภูมิภาค ซึ่งหัวเว่ยลงทุนคลาวด์ในไทยไปมากกว่า 55,000 ล้านบาท และยังลงทุนต่อเนื่องทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) เพื่อเพิ่มการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในบริการสาธารณะและผลักดันประเทศ
ภาพรวมของ Huawei Cloud โดยแจ็กเกอลีน ชิ
เริ่มต้นงานโดยคุณแจ็กเกอลีน ชิ (Jacqueline Shi) ประธานฝ่ายการตลาดและบริการจัดจำหน่ายระดับโลกของหัวเว่ย คลาวด์ ได้กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจ โดยหัวเว่ยตั้งใจมอบเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ผู้ใช้สามารถใช้บริการระดับ Distributed Database บนคลาวด์ได้ รวมถึงการใช้ AI มาช่วยขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น ซึ่งหัวเว่ยได้พัฒนาโมเดล Pangu เป็นของตัวเอง ที่เป็น AI หลากหลายความสามารถ โดยในงานได้นำ Pangu มาถอดคำพูดสดบนเวที พร้อมแปลเป็นภาษาจีนและไทยให้ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ Pangu ยังมีความสามารถอีกสารพัด ทั้งพยากรณ์อากาศ, จัดการท่าเรือ, วิจัยยา, เรื่องการเงิน, การผลิต, การสร้างเนื้อหาก็ได้ เป็นสมองของเมืองและรัฐได้
ซึ่งหัวเว่ยยังเน้นเรื่องการเข้ามาสร้างระบบนิเวศในไทยด้วย โดยตอนนี้สร้างนักพัฒนาที่เข้าใจการทำงานของ Huawei Cloud มากกว่า 2 หมื่นรายในไทยใน 2 ปี และมีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อนำวิชาเกี่ยวกับ Cloud เข้าไปสอนด้วย โดยที่ผ่านมาหัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในไทยมากมาย เช่น ช่อง 3, ช่อง 7, CP, คาราบาว
ภายใน 5 ปีข้างหน้า หัวเว่ย คลาวด์ จะเพิ่มขีดความสามารถการทำงานในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในท้องถิ่น เพื่อรับประกันความปลอดภัยของข้อมูลและประสิทธิภาพในการประมวลผล การลงทุนที่สำคัญนี้จะเสริมสร้างสถานะของประเทศไทยในฐานะผู้นำดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ความสามารถของ Huawei Cloud
ต่อมา เดวิด หลี่ (David Li) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ได้พูดถึง Huawei Cloud ว่าเปิดตัวในไทยตั้งแต่ปี 2018 ตอนนี้กลายเป็นผู้ให้บริการชั้นนำในไทย มีโซนการให้บริการ (Availability Zone) ในประเทศไทย ที่ประกอบด้วย Datacenter 3 แห่ง ซึ่งคลาวด์ที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ งานสร้างโครงสร้างพื้นฐานของคลาวด์จึงเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งโครงสร้างที่ดีของหัวเว่ย สามารถสร้างคลาวด์ที่มีความหน่วงต่ำระดับ 12 มิลลิวินาทีได้ ซึ่งยกระดับการใช้งานในประเทศ
หัวเว่ยมั่นใจว่าจะสามารถใช้ Huawei Cloud กับทุกอุตสาหกรรมได้ โดยตอนนี้มีซอฟต์แวร์จากไทยมากกว่า 300 ตัวอยู่ในคลาวด์ของหัวเว่ย และสตาร์ตอัปกว่า 3,500 แห่งที่ใช้งานหัวเว่ยคลาวด์
นอกจากนี้หัวเว่ย คลาวด์ ได้ร่วมมือกับกระทรวงดีอี เพื่อเปิดตัว e-Government Cloud เพื่อเพิ่มการทำงานร่วมกันทางดิจิทัลและคุณภาพการบริการสาธารณะ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการสร้างสมาร์ตซิตี้ (Smart City) แห่งแรกในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ปรับปรุงบริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังได้พัฒนาเหมือง SCG สีเขียวแห่งแรกและโรงงานอัจฉริยะ Matsumoto เพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืน
ซึ่งรายละเอียดความสามารถของ Huawei Cloud คุณมาร์ค เฉิน (Mark Chen) ผู้อำนวยการแผนกธุรกิจระหว่างประเทศของ Huawei Cloud ได้สรุปออกมา ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ที่หัวเว่ยคลาวด์ในไทยไม่เคยผิดพลาดเรื่องนี้เลยตั้งแต่ปี 2018 ที่เปิดให้บริการ เพราะมีการรักษาความปลอดภัย 7 ชั้น และ SecMaster ศูนย์รวมการจัดการโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากนี้ยังมีการใช้ GaussDB ฐานข้อมูลใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เร็วขึ้น และเมื่อ Huawei Cloud กระจายอยู่ในใน 33 ภูมิภาค ก็ทำให้บริการได้รวดเร็วด้วย
ในส่วนของการบริการ ก็มี Cloud Adoption Framework กรอบการทำงานเพื่อให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนมาเป็น Cloud ได้ง่ายขึ้น พร้อมทีมวิศวกรที่จะให้การสนับสนุนตลอดเวลา เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านใช้เวลาสั้นลง ซึ่งแน่นอนการให้บริการในไทยก็จะเป็นทีมวิศวกรไทยด้วย
นโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก
ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้พูดถึงนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ว่าจะทำให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและดิจิทัลได้ ทำให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกระทรวงได้สนับสนุนการใช้คลาวด์กับหน่วยงานรัฐกว่า 450 แห่ง และมีการให้สิทธิประโยชน์ผ่าน BOI ในการให้บริษัทคลาวด์เข้ามาลงทุนในไทย
ความร่วมมือของเรากับหัวเว่ย คลาวด์ ย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่แข็งแกร่ง ปลอดภัย และเชื่อถือได้ การลงทุนของหัวเว่ย คลาวด์ ในโครงสร้างพื้นฐานท้องถิ่นและเทคโนโลยีขั้นสูง จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนวิสัยทัศน์การใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Vision) ของเรา ทั้งนี้ เราขอรับรองว่าประโยชน์ของเทคโนโลยีคลาวด์จะถูกนำไปใช้ในทุกภาคส่วนของประเทศไทย ทั้งภาคประชาชน ธุรกิจ และสถาบัน
ช่วงถาม-ตอบ
เราได้มีโอกาสร่วมถามคำถามกับคุณแจ็กเกอลีน ชิ ประธานฝ่ายการตลาดและบริการจัดจำหน่ายระดับโลกของหัวเว่ย คลาวด์ และคุณเดวิด หลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย ในหลายประเด็น
เริ่มตั้งแต่ประเด็นสงครามเทคโนโลยีที่มีการกีดกันจีนไม่ให้เข้าถึงเทคโนโลยีบางอย่างได้ ประเด็นนี้คุณแจ็กเกอลีนตอบเราว่าหัวเว่ยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง อย่างชิปเร่งการประมวลผล AI ก็มีชิปตระกูล Ascend เป็นของตัวเอง และในด้านซอฟต์แวร์ก็พัฒนาให้รองรับหลายแพลตฟอร์ม หลายฮาร์ดแวร์อยู่แล้ว จึงไม่มีปัญหา ซึ่งเราหวังว่าจะสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับทุกประเทศ ทุกความต้องการ ทุกฮาร์ดแวร์ ทุกซอฟต์แวร์ก็ใช้ได้
ส่วนความสำคัญของตลาดไทย คุณเดวิดตอบว่า ไทยเป็นตลาดที่สำคัญของหัวเว่ยมาตลอด ลงทุนการตลาดและ R&D สูง มีการลงทุน 5G เป็นที่แรก ๆ เมื่อ 35 ปีก่อนไทยก็เป็นชาติแรก ๆ ที่หัวเว่ยขยายออกจากจีนมาลงทุน และไทยกับจีนมีสัมพันธ์กันมานานแล้ว ซึ่งคุณแจ็กเกอลีนก็ขยายความว่า ไทยเป็นตลาดที่สำคัญติด Top 5 ของหัวเว่ยคลาวด์มาตลอด
และแม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการหดตัวลงบ้าง แต่ตลาดคลาวด์ยังเติบโตต่อไปได้ เพราะเป็น Mega Trend ที่รัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ยังต้องการใช้คลาวด์