ในงาน Pinto E-book Open Pages Day เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 ปิ่นโต อีบุ๊กหนึ่งในร้านขายหนังสืออิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของไทยได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการมุ่งสร้างระบบนิเวศของผู้เขียนและผู้อ่านที่แข็งแกร่งในไทย พร้อมปิดการขายหนังสือผ่าน Ookbee เพื่อย้ายข้อมูลผู้ใช้ทั้งหมดมายัง Pinto

กวิตา พุกสาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด อธิบายภาพรวมตลาดหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ตอนนี้ว่ายังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมตลาดโลกตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 มีมูลค่าตลาดเพิ่มจาก 763,000 ล้านบาท เป็น 1,070,000 ล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 7.1% ต่อปี ส่วนในไทยก็เติบโตจาก 2,960 ล้านบาท ในปี 2560 เป็น 5,705 ล้านบาท ในปี 2565 ซึ่งเติบโตสูงกว่าตลาดโลกที่ 14% ต่อปี โดยเฉพาะในปี 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เผยว่า ตลาดอีบุ๊กเติบโตจากปี 2564 ถึง 20%

กวิตา พุกสาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด

ข้อมูลจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยเผยว่า นักอ่านไทยหันมาอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เร็วที่สุดในโลก ตอนนี้มีสัดส่วนอ่านอีบุ๊กถึง 42% แล้ว

ทำไมจาก Ookbee ต้องเปลี่ยนเป็น Pinto

Ookbee เป็นหนึ่งในแอปฯ อีบุ๊กยุคแรกที่ได้รับความนิยมในไทย การย้ายผู้ใช้จาก Ookbee มาเป็น Pinto จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดย เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด ให้คำตอบในเรื่องนี้กับเราว่า เพราะ Ookbee เป็นแอปฯ เก่า เทคโนโลยีที่ใช้งานก็มีอายุมาก การพัฒนาแอปฯ Pinto ขึ้นมาใหม่และย้ายผู้ใช้เดิมมาสู่ระบบใหม่แทนจึงเป็นทางเลือกที่ดีกับอนาคตมากกว่า

โดยคุณกวิตาเสริมว่าเมื่อเริ่มต้นแพลตฟอร์มใหม่ ก็มองหาชื่อใหม่ที่สื่อถึงสิ่งที่สามารถพกพา เคลื่อนย้ายได้ เหมือนอีบุ๊กที่อยู่กับนักอ่านได้ทุกที่ทุกเวลา อีกทั้งต้องการชื่อที่มีความเป็นไทย น่ารัก อบอุ่น เข้าใจง่าย จึงนึกถึง “ปิ่นโต” นอกจากนี้ “ปิ่นโต” ยังมีหลายชั้นซึ่งสื่อถึงความหลากหลายของเนื้อหาที่พร้อมตอบสนองทุกความต้องการของนักอ่าน จึงเป็นที่มาของแพลตฟอร์ม “ปิ่นโต อีบุ๊ก ร้านหนังสือหิ้วได้” ที่พร้อมไปกับนักอ่านยุคดิจิทัลทุกที่

ส่วนคุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อุ๊คบี กรุ๊ป กล่าวเสริมถึงการส่งต่อแพลตฟอร์ม Ookbee มาที่ปิ่นโต อีบุ๊กว่า Ookbee group มีธุรกิจในเครือที่หลากหลาย แต่ธุรกิจที่เป็นรายได้หลักไม่ว่าจะเป็นธัญวลัย Fictionlog จนมาถึง ปิ่นโต อีบุ๊ก มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดแนวคิดในการโอนย้ายธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์มการอ่านในเครือ Ookbee มาที่ Storylog ทั้งหมด เพื่อรวมเป็นยูนิตเดียว เพื่อความคล่องตัวและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร และให้ผู้ใช้บริการทั้งเว็บไซต์และ
แอปพลิเคชัน Ookbee สามารถโอนย้ายบัญชีมาที่ปิ่นโต อีบุ๊กได้

โดยโครงสร้างการบริหารของแอปฯ ปิ่นโต นั้นอยู่ภายใต้การดูแลโดยบริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด ซึ่งอุ๊คบี กรุ๊ปถือหุ้นทั้งหมด 100%

ทำไมอีบุ๊กราคาไม่ต่างจากหนังสือเล่มนัก

เปรมวิชช์ สีห์ชาติวงษ์ กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตอรี่ล็อก จำกัด

เมื่อเราถามเรื่องราคาหนังสือที่ปัจจุบันราคาสูงขึ้นมาก ราคาของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ก็ไม่ต่างจากหนังสือเล่มเท่าไหร่ ทั้งที่อีบุ๊กไม่มีเรื่องการพิมพ์ เรื่องค่ากระดาษหรือค่าสายส่ง ก็ได้คำตอบจากคุณเปรมวิชช์ว่า ค่าลิขสิทธิ์คือส่วนที่แพงที่สุดของหนังสือ มันเลยไม่สามารถลดราคาได้มากกว่าเล่มนัก และในยุคนี้สำนักพิมพ์โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ต่างประเทศจะคิดค่าลิขสิทธิ์แยกกันระหว่างหนังสือเล่มกับอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเมื่อรวมกับต้นทุนหลาย ๆ อย่างก็ทำให้สำนักพิมพ์ไม่สามารถลดราคาหนังสือได้มากนัก

แต่ที่ผ่านมาแอปฯ Pinto ก็ช่วยโดยการออกคูปองลดราคาสำหรับผู้ซื้อ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการซื้อลง เป็นการส่งเสริมการตลาดที่สำนักพิมพ์ก็ยังได้เงินค่าหนังสือกลับไปเท่าเดิม

การสนับสนุนนักเขียนไทย

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อุ๊คบี กรุ๊ป

เพราะปิ่นโตเกิดขึ้นมาจากทีมงาน Storylog ที่มีแพลตฟอร์มเขียนนิยายรายตอนอย่าง Fictionlog และมี ‘ธัญวลัย’ เป็นบริการข้างเคียงอยู่ในเครือ ทำให้คุณเปรมวิชช์ มองไปที่การสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง ที่ช่วยให้นักเขียนและสำนักพิมพ์มีรายได้ที่มั่นคง มีอิสระในการทำงาน สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพเศรษฐกิจมากนัก จึงตั้งเป้าสร้างระบบนิเวศการอ่านดิจิทัลที่ครบวงจร เชื่อมโยงแพลตฟอร์มการอ่านทั้งหมดในเครือให้ทำงานร่วมกัน

เมื่อแพลตฟอร์มนิยายรายตอนเติบโตเต็มที่แล้ว จึงอยากให้นักเขียนสามารถพัฒนาผลงานจากนิยายรายตอนมารวบรวมอยู่ในรูปแบบอีบุ๊กขายได้ในแอปฯ ปิ่นโต ซึ่งเราก็พัฒนาระบบให้ผู้อ่านนิยายรายตอนได้เห็นว่ามีรวมเล่มขายอยู่ในอีกหน้าร้านนะ สามารถตามไปสนับสนุนนักเขียนได้

เมื่อเราถามถึงการเข้ามาของร้านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จากต่างชาติที่เข้ามาขายในไทย คุณกวิตาตอบว่า มันก็ห้ามไม่ได้ แต่เราก็อยากสร้างอาชีพให้นักเขียนไทย เราเป็นร้านไทยก็อยากให้เงินอยู่ในไทย สร้างความแข็งแกร่งที่ต่างชาติทำไม่ได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าร้านต่างชาติทุนเค้าสูงกว่าเรา เราจึงต้องมีกลยุทธ์ที่ดี

จุดเด่นของแพลตฟอร์ม Pinto

คุณกวิตาสรุป 4 จุดเด่นที่ทำให้ ปิ่นโต จะสามารถเติบโตจากส่วนแบ่ง 5% ในตลาดอีบุ๊กไทยที่มีมูลค่าอยู่ราว 1,500-1,700 ล้านบาทในปัจจุบันได้คือ

  1. สร้างบรรยากาศที่อบอุ่นและเป็นกันเอง ให้นักอ่านรู้สึกคุ้นเคยและสบายใจ เหมือนกำลังเดินเลือกหนังสืออยู่ในร้านโปรด
  2. คัดสรรคอนเทนต์ที่โดนใจเพื่อทุกคน ด้วยการใช้ทั้งอัลกอริทึมและทีมงานผู้เชี่ยวชาญในการคัดสรรและนำเสนอคอนเทนต์ที่น่าสนใจ พร้อมบทความแนะนำหนังสือ ที่หลากหลายแนวตรงใจผู้อ่านทุกกลุ่ม
  3. เอาใจนักอ่านด้วยส่วนลด ที่คุ้มค่าทั้งด้านราคาและการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นระบบโค้ดคูปอง Coin Back และระบบสมาชิกที่มาพร้อมสิทธิพิเศษต่าง ๆ สำหรับนักอ่านตัวยงเพื่อจูงใจให้เกิดการซื้อซ้ำและเกิดความภักดีต่อแบรนด์
  4. ดูแลพาร์ตเนอร์ทั้งนักเขียนและสำนักพิมพ์อย่างใกล้ชิด ทั้งในด้านการวางแผนการลงงาน การจัดทำไฟล์งาน และการวางแผนการตลาดที่ตรงตามโจทย์ของพาร์ตเนอร์โดยทีม Content Partnerships มืออาชีพที่จะคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับความสะดวกและประโยชน์สูงสุดและเติบโตไปด้วยกัน

ปัจจุบันหนังสือ 5 อันดับแรกที่ขายดีในปิ่นโตคือ

  1. นิยายวาย
  2. นิยายรักโรแมนติก
  3. การ์ตูนแอ็กชัน ผจญภัย
  4. การ์ตูนรักโรแมนติก
  5. จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง

โดยพบว่านิยายรักจีนโบราณและนิยายวายย้อนยุค เป็นหมวดที่สร้างยอดขายมากที่สุด แสดงให้เห็นถึงกระแสความนิยมของเนื้อหาย้อนยุค โดยส่วนใหญ่เป็นเนื้อหาจากประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตนิยายออนไลน์รายใหญ่ของโลก ส่วนหมวดการ์ตูนก็เติบโตอย่างรวดเร็วจนน่าจับตา โดยมียอดขายถึง 15% ของยอดขายทั้งหมดในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับหนังสือแนวจิตวิทยาและการพัฒนาตนเองและหนังสือธุรกิจและการลงทุน ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 18% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา