สมาคมการค้าสตาร์ตอัปไทย เผยวิสัยทัศน์ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่สตาร์ตอัปกำลังเผชิญอยู่ โดยเน้นให้ทางภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการแข่งขันในสิ่งที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘สงครามล่าอาณานิคมแบบไม่ใช้กำลัง’ เพื่อให้สตาร์ตอัปไทยสามารถ ‘Pioneers New Economy’ นำพาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจใหม่ที่ยั่งยืน

การต่อสู้กับสงครามที่มองไม่เห็น

นายธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ตอัปไทยคนปัจจุบัน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในภาวะที่เรียกว่าเป็นสงครามล่าอาณานิคมแบบไม่ใช้กำลัง โดยการเข้ามาของธุรกิจต่างประเทศ ที่เม็ดเงินของไทยไหลออกไปอยู่ต่างประเทศทั้งหมด โดยวิสัยทัศน์ของสมาคมฯ นั้น ได้เน้นย้ำให้ธุรกิจมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการต่อสู้ทางธุรกิจ โดยเฉพาะการเข้าสู่ตลาดที่ยังสามารถแข่งขันได้ เช่น AI, Biotechnology, Food Tech เป็นต้น

นายธนวิชญ์ ต้นกันยา นายกสมาคมการค้าสตาร์ตอัปไทยคนปัจจุบัน

โดยทางสมาคมได้มีการเริ่มดำเนินการเกี่ยวกับสตาร์ตอัปในไทยแล้ว โดยเริ่มจากการทำ Thai Startup Directory คือการทำสารบบของสตาร์ตอัปในประเทศไทย เพื่อให้สามารถค้นหาได้โดยง่าย และให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มได้ผ่านเว็บไซต์ของสมาคมสตาร์ตอัปไทยเอง – data.thaistartup.org ต่อด้วยการเพิ่มขีดความสามารถ (Capability) ด้วยการเพิ่มความรู้ความสามารถให้กับธุรกิจสตาร์ตอัป ผ่านการพัฒนาหลักสูตรสำหรับสตาร์ตอัปให้เรียนได้แบบออนไลน์ ทั้งออกแบบหลักสูตร, นำเนื้อหาที่มีมาจัดเรียงใหม่ และพัฒนาเนื้อหาที่ขาดหายไป เพื่อให้คนมีความรู้ และความสามารถมากขึ้น

อีกส่วนคือ Member Benefit ที่ทางสมาคม ได้เปิดตัวเว็บไซต์ thaistartup.org ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพื่อให้มีระบบ Membership สำหรับสมาชิกสมาคม ในการรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม มูลค่ารวมกว่า 4,000,000 บาท ผ่านการร่วมมือกับทางพาร์ตเนอร์​ และ Primo ที่ทำระบบให้กับทางสมาคมด้วย (เข้าได้ผ่านเว็บไซต์ของ Thai Startup ที่ออกแบบมาใหม่) ได้ด้วย

ข้อเสนอที่สมาคมฯ แนะนำให้รัฐทำ

แต่อีกส่วนที่สำคัญคือส่วนที่จะต้องให้ทางภาครัฐ ร่วมมือกับทางสมาคม เพื่อให้ขีดความสามารถดียิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นคือนโยบายจากภาครัฐ​ ซึ่งนอกจาก ‘พรบ. Startup’ ที่เคยผลักดันมาแล้ว ยังมีข้อเสนอ 7 ข้อสำคัญต่อภาครัฐผ่านภารกิจสมาคม 3 ด้าน (Manpower, Money, Market)

ทางสมาคมฯ เชื่อว่าประเทศไทยสามารถใช้จุดแข็งในด้านสุขภาพ อาหาร และการท่องเที่ยว ในการสร้างความได้เปรียบในตลาดโลกซึ่งเป็นภาคส่วนที่สตาร์ตอัปไทยสามารถ สร้างความโดดเด่นเหนือคู่แข่งต่างชาติได้

โดยข้อเสนอทั้ง 7 ข้อนั้นประกอบไปด้วย

Manpower (กำลังคนด้านดิจิทัล)

1. ควรเน้นการพัฒนาทักษะดิจิทัลและเทคโนโลยีสำหรับบุคลากร เพื่อให้เกิดการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในตลาดโลก ทั้งนี้ควรมีการสนับสนุนด้านการศึกษา การฝึกอบรมและการจัดโปรแกรมเร่งรัดความรู้ด้านดิจิทัลที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม

Money (การสนับสนุนด้านการเงิน)

2. เงินลงทุน: ควรจัดสรรเงินทุนให้เทียบเท่ากับประเทศชั้นนำอย่างสิงคโปร์ ซึ่งจัดสรรเงินลงทุนสูงถึง 200 ล้านบาทต่อบริษัท ผ่านกองทุน Matching Fund ที่ร่วมลงทุนกับนักลงทุนที่ได้รับการรับรอง

3. เงินกู้: ควรมีการให้กู้ยืมแบบไม่ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ผ่อนชำระ 5 ปี วงเงินสูงสุด 13 ล้านบาทต่อบริษัท

4. เพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน: ควรบังคับใช้กฎหมาย Credit Term Guideline อย่างเคร่งครัด โดยกำหนดให้บริษัทใหญ่ต้องชำระเงินแก่คู่ค้าไม่เกิน 45 วัน โดยนโยบายนี้ไม่ต้องใช้เงินภาษีประชาชน

5. PO Financing: ใช้ใบสั่งซื้อเป็นหลักค้ำประกันเงินกู้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ

Market (การเข้าถึงตลาด)

6. ผลักดันสู่ตลาดต่างประเทศ: ควรผลักดันสตาร์ตอัปไทยเข้าสู่ตลาดต่างประเทศผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเติบโตในตลาดสากล

7. Thailand First: ควรกำหนดสัดส่วนงบประมาณด้านไอทีที่ต้องใช้ซื้อสินค้าหรือบริการจากสตาร์ตอัปไทย เพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจภายในประเทศ เหมือนกับที่เคยมีในสิงคโปร์

ทั้งนี้ ภารกิจของสมาคมการค้าสตาร์ตอัปไทยนั้น ก็เพื่อปกป้องอนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยการเสริมสร้างศักยภาพของสตาร์ตอัปไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในสงครามล่าอาณานิคมแบบไม่มีการใช้กำลังครั้งนี้ โดยมุ่งมั่นที่จะให้สตาร์ตอัปไทยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง แต่ได้รับการสนับสนุนและทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน ‘Pioneers New Economy’ สำหรับประเทศไทยต่อไป