17 กันยายน 2567 สภาผู้บริโภคได้เปิดเผยคดีตัวอย่าง กรณีมีเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์รายหนึ่งได้ถูกธนาคารบัตรเครดิตฟ้องเนื่องจากไม่ได้ชำระหนี้ ซึ่งเกิดจากการถูกแก๊งคอลเซนเตอร์หลอกให้โหลดแอปพลิเคชัน แล้วเข้าถึงแอปฯ บัตรเครดิตและถอนเงินสดออกไป แม้ว่าเหยื่อได้โทรแจ้งไปยังผู้ให้บริการบัตรเครดิตเพื่อระงับธุรกรรม แต่พนักงานได้แนะนำเพียงแค่ให้ไปแจ้งความกับตำรวจ สุดท้ายศาลแขวงระยองได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้ โดยให้เหตุผลว่าการทุจริตถอนเงินจากบัตรเครดิตนั้นเหยื่อไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตัวเอง จึงไม่สามารถให้เหยื่อรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวได้
คดีตัวอย่างเกิดขึ้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566 เหยื่อรายนี้ได้รับโทรศัพท์จากแก๊งคอลเซนเตอร์ที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน แจ้งให้เหยื่อจ่ายภาษีที่อยู่อาศัยในวันนั้นเป็นวันสุดท้ายไม่เช่นนั้นจะโดนค่าปรับ พร้อมสอบถามเหยื่อว่าสะดวกไปจ่ายที่กรมที่ดินหรือไม่ หากไม่สะดวกสามารถจ่ายผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวใกล้เคียงกับวันที่เหยื่อเคยไปทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน ณ สำนักงานที่ดินบ้านฉาง จังหวัดระยอง จึงทำให้เหยื่อเชื่อว่าเป็นการติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่กรมที่ดินจริง
นอกจากนี้มิจฉาชีพได้บอกเลขที่โฉนดที่ดินของเหยื่ออย่างถูกต้อง ดังนั้นเหยื่อจึงเชื่อและยอมชำระเงินผ่านทางออนไลน์ โดยเพิ่มเพื่อนในแอปฯ Line ที่มีชื่อบัญชีว่า “สำนักงานที่ดิน” จากนั้นมิจฉาชีพได้สอบถามข้อมูลเลขบัตรประชาชน วันเดือนปีเกิดและเบอร์โทรจากเหยื่อ และเหยื่อได้ขอดูบัตรเจ้าหน้าที่กรมที่ดินโดยให้ส่งมาทางแชต จากนั้นเหยื่อได้รับและกดลิงก์ดาวน์โหลดแอปฯ พร้อมกรอกข้อมูลส่วนตัวตามขั้นตอน สุดท้ายถึงขั้นตอนสแกนใบหน้าเพื่อยืนยันตัวตน หน้าจอโทรศัพท์ของเหยื่อเป็นสีขาว จึงฉุกคิดได้ว่าโดนหลอกแล้ว จึงรีบปิดโทรศัพท์ ติดต่อธนาคารและแจ้งความกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ
ต่อมาบัตรเครดิตของเหยื่อได้มีการทำรายการขอเพิ่มวงเงินและเบิกถอนเงินสดออกไป 2 ครั้ง คือ 15,000 บาท และ 20,000 บาทตามลำดับ โดยโอนเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทยของเหยื่อที่ผูกกับบัตรเครดิต จากนั้นมีการโอนเงินดังกล่าว 35,000 บาท และเงินของเหยื่อออกไปยังบัญชีมิจฉาชีพ ซึ่งเหยื่อก็ได้โทรแจ้งผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ช่วยระงับบัตรเครดิต และพนักงานได้แนะนำให้ไปแจ้งความ จากนั้นเหยื่อได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุดและร้องเรียนต่อหน่วยงานสภาองค์กรผู้บริโภค
เนื่องจากเหยื่อไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้บัตรเครดิตที่ถูกหลอกดูดเงินออกไป ทางธนาคารบัตรเครดิตจึงได้ฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับเหยื่อจ่ายหนี้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งทางสภาผู้บริโภคก็ได้รับคดีนี้ไปช่วยเหลือ โดยแต่งตั้งทนายความมาว่าความให้ จนสุดท้ายศาลได้ตัดสินยกฟ้อง
28 สิงหาคม 2567 ศาลแขวงระยอง ได้มีคำพิพากษายกฟ้องโดยชี้ว่าเหยื่อไม่ได้เป็นผู้ใช้บัตรเครดิตถอนเงินและโอนออกไปด้วยตัวเอง จึงไม่ต้องรับผิดชอบภาระหนี้ที่เกิดขึ้น อีกทั้งหน่วยงานบริการบัตรเครดิตได้รับแจ้งเหตุแล้วก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ นอกจากให้เหยื่อไปแจ้งความติดตามเรื่องเอง ทั้งที่บริษัทบัตรเครดิตเป็นเจ้าของเงินที่ถูกลักไป ซึ่งศาลมองว่าบริษัทสามารถสร้างเครือข่ายร่วมมือกับธนาคารเพื่อระงับหรืออายัดเงินไว้ชั่วคราวเพื่อตรวจสอบได้ แต่บริษัทกลับไม่ร่วมมือกันทำโดยปล่อยให้เป็นภาระของผู้บริโภคต้องติดตามเรื่องเอง
ศาลให้เหตุผลว่าตามกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีเกิดเหตุการณ์ทุจริตที่มีผู้ถือบัตรได้รับความเสียหายจากธุรกรรมชำระเงินผ่านบัตร และเหตุไม่ได้เกิดจากผู้ถือบัตร ผู้ให้บริการต้องเยียวยาแก่ผู้เสียหาย และการนำสัญญามาอ้างนั้นขัดต่อกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค