วันที่ 23 กันยายน 2567 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC จัดโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ ในชื่อกิจกรรม “Social Security for All คอนเทนต์ปลอดภัย เพื่อชีวิตติดโซเชียล” แก่กลุ่มนิสิต/นักศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เพื่อส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักรู้ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงแนะแนวทางในการสร้างคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม และถูกต้องตามหลักกฎหมาย PDPA ทั้งนี้เพื่อลดปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ตามพันธกิจของสำนักงานฯ

โดยกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผศ.ดร. รัฐกรณ์ คิดการ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ การวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้เกียรติมาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน

และมีนางสาววีรินทร์ อรวัฒนพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นผู้กล่าวรายงาน และมีนายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ให้เกียรติมากล่าววัตถุประสงค์ของโครงการนี้

เนื้อหาสาระความรู้ตลอดทั้งวันประกอบด้วยหัวข้อ “พลังแห่งคอนเทนต์ยุคใหม่ใส่ใจสังคม” โดยหนุ่ย-พงศ์สุข หิรัญพฤษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด และหัวข้อ “PDPA กับ โลกคอนเทนต์ในปัจจุบัน” โดย ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ซักถามข้อสงสัย และมีกิจกรรมตอบคำถามทบทวนความรู้ให้ร่วมสนุกในหัวข้อ “Content Challenge: สังคมปลอดภัยเริ่มได้ที่ตัวเรา”

พลังแห่งคอนเทนต์ยุคใหม่ใส่ใจสังคม

พี่หนุ่ย-พงศ์สุข ประธานเจ้าที่บริหารบริษัท โชว์ไร้ขีด จำกัด รับหน้าที่เป็นวิทยากร เปิดด้วยคำถามว่าคอนเทนต์ยุคใหม่ ใส่ใจสังคมได้หรือไม่ ? ประเทศไทยมีคนทำคอนเทนต์ได้จำนวนกว่า 2 ล้านคน อ้างอิงจากสภาพัฒนาฯ ปี 2566 เทียบกับจำนวนคนไทย 66 ล้านคนเท่ากับว่าใน 33 คนที่อยู่ในเมืองไทยจะเป็นคอนเทนต์ ครีเอเตอร์ไปแล้ว 1 คน จึงส่งผลให้เกิดการแข่งขันอันดุเดือดของเหล่าครีเอเตอร์ บางคนทำคลิปวิดีโอไม่เหมาะสม คอนเทนต์ด่าคน สร้างอารมณ์โกรธปลุกเร้าผู้ชม คอนเทนต์พวกนี้ดึงดูดคนดูเข้ามาจริง

ซึ่งเราไม่อยากแข่งด้วยคอนเทนต์ประมาณนี้ เราอยากผลิตเนื้อหาในทางบวก เพื่อผลักดันให้สังคมดีขึ้น ดังนั้น การเห็นถึงความเข้าใจในการทำสื่อเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ความสำคัญของ PDPA ในสังคมยุคปัจจุบัน เนื่องจากกฎหมายบังคับใช้ออกมาแล้ว ไม่เพียงบริษัท แต่บังคับใช้กับคนทั่วไปด้วย

พี่หนุ่ยจึงแนะวิธีสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ด้วยการพลิกมุมเล่าใหม่ หากคนอื่นด่าเมื่อมีดราม่า เราอาจจะนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาจากเรื่องดราม่าเหล่านั้นแทน ตัวอย่างหนึ่ง ช่วงหนึ่งมีดราม่าคลิปเสียงหลุดของบุคคลท่านหนึ่งออกมา สำนักข่าวอื่น ๆ เล่นประเด็นนี้อย่างมาก แต่พี่หนุ่ยเองหาเว็บไซต์ตรวจจับเสียงว่า คลิปนั้นใช้ AI ปรับแต่งเสียงหรือไม่ นับเป็นคอนเทนต์เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ที่สามารถพิสูจน์ข้อมูลให้กับสังคมได้ 

ตอนเปิดให้น่าสนใจ เล่าให้ถูกต้อง มีมุกให้ผู้คนชอบ มีฮุกให้เปรี้ยงโดนใจผู้ชม และปิดให้คนจำ

สรุปเคล็ดลับสร้างคอนเทนต์ให้น่าสนใจ

  1. เล่าในเรื่องที่ตัวเองรู้ รู้ในเรื่องที่ตัวเองเล่า
  2. สื่อออนไลน์เหมือนกัน แต่เล่าไม่เหมือนกัน บางแอปฯ ชอบคลิปสั้น บางแอปฯ ชอบวิดีโอยาว บางแอปฯ ชอบบทความงานเขียนยาว ฉะนั้นต้องเลือกปรับใช้เหมาะสม
  3. เติมความรู้ใหม่อยู่เสมอ เพื่อการนำเสนอที่ดีขึ้นทุกวัน
  4. Simple Persuasive Youthful เรียบง่าย โน้มน้าวใจ สดใหม่เสมอ
  5. ภูมิใจเสนอ โอบรับความรู้สึกที่ได้แบ่งปัน
  6. ไม่ยึดติดรูปแบบสื่อ มีสิ่งใหม่เสมอ

PDPA กับโลกคอนเทนต์ในปัจจุบัน

ดร. พีรภัทร ฝอยทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พูดถึงโลกปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้คอนเทนต์อยู่ในรอบตัว และมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก นับว่าเป็นการสร้างความเดือดร้อนรำคาญและทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล

ทำไมเราต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ? เนื่องจากมีการบังคับใช้ทางกฎหมายเกี่ยวกับ PDPA และเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตส่วนบุคคล โดยข้อมูลส่วนบุคคลนั้นมีค่ามหาศาล สามารถนำไปใช้ทำโฆษณาต่าง ๆ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เสนอขายได้ตรงใจผู้บริโภค ทำให้เราต้องหวงแหนข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง และไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่น

อะไรบ้างเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ? ข้อมูลทุกอย่างที่ระบุถึงตัวตนของเรา อีกทั้งในข้อมูลส่วนตัวยังมีข้อมูลอ่อนไหว ที่มีความละเอียดอ่อน และมีความสุ่มเสี่ยงต่อการถูกใช้ในการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เช่น ศาสนา เชื้อชาติ หรือประวัติอาชญากรรม

แล้วเหล่า Content Creator ต้องรู้อะไรบ้าง เพื่อที่จะไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ? 

  1. แจ้งเตือนวัตถุประสงค์การเก็บ รวบรวม ใช้ข้อมูล 
  2. เก็บข้อมูล และจำกัดสิทธิเข้าถึงเท่าที่จำเป็น รวมทั้งใช้ข้อมูลให้ตรงกับวัตถุประสงค์
  3. การลบข้อมูลล้าสมัยหรือไม่เกี่ยวข้อง
  4. มีนโยบายคุ้มครองความเป็นส่วนตัวที่ชัดเจน และเปิดเผย
  5. มีการยินยอมอนุญาตให้ใช้ข้อมูล และสามารถถอนความยินยอมได้โดยง่าย

รวมถึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ซักถามข้อสงสัย และมีกิจกรรมตอบคำถามทบทวนความรู้ให้ร่วมสนุกในหัวข้อ “Content Challenge: สังคมปลอดภัยเริ่มได้ที่ตัวเรา”

ทั้งนี้นิสิต/นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 120 คน​ ณ ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ 2 (อาคาร 31 ชั้น 3) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา