เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมา insightist ได้จัดงาน Ai Thailand Conference 2024 ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งก็มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ที่น่าสนใจมากมาย และหนุ่ย พงศ์สุขได้ขึ้นเวทีนี้ด้วย ทีมงาน BT beartai ที่ได้มีโอกาสร่วมงานครั้งนี้จึงขอสรุปให้อ่านกันในบทความนี้

AI Transformation

AI Transformation Model หรือ 7 ระดับขั้นของการแปลงองค์กรไปสู่องค์กรที่ใช้ AI

สำหรับเนื้อหาในส่วนนี้บรรยายโดยธีรานนท์ ศิริกุลพิริยะ จาก Solution Impact ผู้จัดงานเอง โดยบอกเล่าถึง AI Transformation ซึ่งกำลังมาต่อเนื่องจาก Digital Transformation ที่เริ่มเมื่อราว 10 ปีก่อน แม้ว่าจะมีบางองค์กรที่ยังไม่ได้ผ่าน Digital Transformation แต่ตอนนี้กำลังโดนจี้เข้าสู่ AI Transformation

คีย์สำคัญสำหรับเนื้อหาในส่วนนี้คือ AI Transformation Model หรือ 7 ระดับขั้นของการแปลงองค์กรไปสู่องค์กรที่ใช้ AI ในการช่วยทำงานคือ

  1. ระดับ 1 – ยังไม่รู้จัก AI เลย ยังมีคำถามอยู่ว่า AI คืออะไร
  2. ระดับ 2 – รู้จัก AI เคยใช้บ้าง แต่ยังคิดภาพไม่ออกว่าจะช่วยทำงานอะไรได้
  3. ระดับ 3 – ใช้แล้ว แต่รู้สึกไม่คุ้นมือ ขอตัวช่วยหน่อย
  4. ระดับ 4 – เริ่มคิด Prompt ที่มีประสิทธิภาพในการสั่งงาน AI ได้แล้ว
  5. ระดับ 5 – ให้ AI เป็นผู้ช่วยแล้ว ไม่ใช่ใช้ AI แล้วเอาคำตอบมาก๊อบแปะทันที แต่มีการปรับแต่ง การนำมาช่วย
  6. ระดับ 6 – ใช้ AI หลากหลายตัวนำมาผสมผสานให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
  7. ระดับ 7 – ระดับสูงสุด องค์กรที่ใช้ AI ขับเคลื่อนธุรกิจ

ซึ่งระดับ 1-4 คือเบสิก ที่จะมองว่าเริ่มใช้ AI ได้จริง ๆ คือระดับ 5 ขึ้นไป แต่ยิ่งระดับสูงขึ้นก็ต้องใช้เงินลงทุนในการใช้งานสูงขึ้น ใช้เวลาเรียนรู้ เพื่อนำ AI เข้ามาอยู่ในกระบวนการทำงานขององค์กร ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรเพิ่มสูงขึ้น

อย่าให้ AI นำคุณ แต่คุณต้องนำ AI ไม่ใช่เอาคำตอบมาก๊อบแปะ แต่ต้องรู้ว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควรใช้

ธีรานนท์ ศิริกุลพิริยะ Solution Impact
การใช้งาน AI ในระดับต่าง ๆ กับผลกระทบทางธุรกิจ

AI กับการตลาดยุคใหม่

ในช่วงนี้เป็นเซสชันโดยสุธีรพันธุ์ สักรวัตร จาก SCBX Group, จิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ จาก Marketing Tech Thailand Group และ ศิริพงศ์ เตียวพิพิธพร จาก OR Innotech Maker ซึ่งเล่าเรื่องการตลาดยุคใหม่ที่ AI เข้ามาช่วย

จิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ จาก Marketing Tech Thailand Group, สุธีรพันธุ์ สักรวัตร จาก SCBX Group และศิริพงศ์ เตียวพิพิธพร จาก OR Innotech Maker

คีย์หลักคือการตลาดนั้นอยู่กับ AI มานานกว่าที่เราคิด เริ่มตั้งแต่ยุค 90s เลยกับการค้นหาของ google แล้วค่อย ๆ ต่อเนื่องกับ Collaborative Filtering ของ Amazon ที่แนะนำสินค้าในยุค 2000s, EdgeRank, Programmatic Ad, Chatbot, Predictive Analytics จนมาถึง Generative AI ในปัจจุบัน แต่ข้อคิดหนึ่งคือ AI ไม่มีทางเก่งกว่าคนในเรื่อง insight คนจึงต้องเป็นผู้หา Insight มาให้เอไอช่วย

ตารางสรุปว่านักการตลาดใช้ AI มานานแค่ไหนแล้ว ซึ่งตารางนี้สร้างโดย Gemini นะ

เคสหนึ่งที่น่าสนใจในเซสชันนี้คือการเข้าใจความแข็งของงานที่สร้างโดย AI ในปัจจุบัน เลยกลายเป็นงานโฆษณาที่ตัวแสดงนำเป็น AI และเฉลยชัด ๆ ในโฆษณานั้นเลยว่านี้คือตัวละครจาก AI ที่ไม่มีหัวใจ เลยไม่เข้าใจความเจ็บปวดของคนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ แต่มนุษย์ที่มีหัวใจก็สามารถช่วยเรื่องนี้ได้

จักรวาลเครื่องมือ AI ในวงการตลาด

สรุปเครื่องมือเด่นในวงการ AI

  • จุดเด่นของ Gemini คือสามารถดึงข้อมูลวิดีโอจาก YouTube ได้ สรุปวิดีโอได้ เพราะเป็นของ Google เอง
  • Gamma สร้างงานนำเสนอได้ดี
  • Storydoc ก็สร้างงานนำเสนอที่เพิ่มวิดีโอได้
  • dzine.ai สามารถทำภาพ AI ที่ไป wrap กับภาพตัวอย่างได้
  • สามารถใช้คำสั่ง Context : ใน Claude สามารถเพิ่มข้อมูลให้เอไอได้
  • นำเทรนด์จาก Wisesight Trend มาใช้กำหนดเรื่องได้

อย่าให้ AI สร้างงานกระจอก ๆ ออกมา เพราะความกระจอกจะตกอยู่ที่คนสร้าง ไม่ใช่ตัว AI เราควรใช้ AI ตามประสิทธิภาพที่ควรจะเป็น อย่างภาพวาด AI กระจอกไม่ควรปล่อยออกมา

สุธีรพันธุ์ สักรวัตร จาก SCBX Group

การเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุค AI

สุทธิดา กิติเรืองแสง จาก Solution Impact และ อภิชาติ ขันธวิธิ จาก QGEN

หัวข้อการเสวนานี้โดยสุทธิดา กิติเรืองแสง จาก Solution Impact และ อภิชาติ ขันธวิธิ จาก QGEN ที่พูดคุยกันเรื่องวัฒนธรรมองค์กร มีอะไรที่ขัดขวาง หรือสนับสนุนการใช้ AI ในองค์กรบ้าง ซึ่งสรุปประเด็นออกมาได้ดังนี้

  • Soft skill ที่ยังอยู่ในยุค AI คือการสื่อสาร เพราะคนก็ยังต้องทำงานกับคน ทำงานเป็นทีมอยู่ดี
  • AI ยังแก้ปัญหาที่ซับซ้อนไม่ได้ คนก็ต้องพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาที่ยากขึ้น
  • อีกสกิลที่สำคัญคือ Attention to Detail ก็ต้องมี เพราะเด็ก ๆ วัย Gen Z อยู่กับอะไรที่เร็วมาตลอด ต้องเสริมให้เขาใส่ใจรายละเอียดด้วย
  • เรื่องของ AI เป็นของใหม่ที่เกี่ยวข้องกับ Comfort Zone ด้วย คือการใช้ AI นั้นเปลี่ยนวิธีการทำงานไปจนคนทำงานที่หันไปใช้ AI ก็เหมือนออกจากพื้นที่สบายของตัวเอง ที่ทำงานแบบเดิม ๆ มาจนเชี่ยวชาญ
    • เมื่อออกจาก Comfort Zone ครั้งแรกจะเจอกับ Fear Zone ก่อน ซึ่งเป็นโซนความกลัวของใหม่ ๆ ว่าจะเปลี่ยนแปลงชีวิตไปทางไหน
    • ถ้าคนส่วนใหญ่ในองค์กรกลัวมันจะไม่กล้าทำอะไร เช่น กลัวเพราะจะโดนผลกระทบอะไร ก็ต้องมีสนามเด็กเล่น มี Sandbox ให้ทดลองให้มั่นใจหน่อย เพราะถ้าข้ามผ่าน Fear Zone ไม่ได้ จะกลับสู่ Comfort Zone ที่แน่นยิ่งกว่าเดิม แกะยากเลยที่นี้
    • แล้วถ้าก้าวข้ามผ่าน Fear Zone ไปได้ จะไปสู่ Learning Zone ที่เรียนรู้ที่จะไปต่อที่ Glow Zone เพื่อเติบโตได้
  • คนที่เข้ามาสอน AI ก็ต้องมีจิตวิทยาในการสอนคนที่กลัว โดยเฉพาะคนสอนที่อายุน้อยกว่าไปสอนคนอายุสูงกว่า เช่นคนมีอายุจะไม่กล้าที่จะถามซ้ำ เพราะกลัวคนอื่นคิดว่าโง่ จึงไม่ใช่หยิบใครก็ได้ในองค์กรมาสอน ต้องมีการฝึกคนสอนด้วย

คนใช้ AI ต้องมี Critical Thinking ที่แยกข้อมูลจริงและเท็จออกมาให้ได้ ต้องเสริมให้ทุกคนเปิดปุ่มเอ๊ะในตัวเอง อ่านสิ่งที่ ChatGPT พ่นออกมาแล้วคิดได้ว่าข้อมูลมันถูกหรือผิด

อภิชาติ ขันธวิธีจาก QGEN

AI x Human for future work โดยหนุ่ย พงศ์สุข

เซสชันนี้โดยหนุ่ย พงศ์สุข ที่เล่าภาพรวมเกี่ยวกับ AI มาช่วยมนุษย์ โดยหนุ่ย พงศ์สุขมองว่าอาชีพใหม่น่าจะเป็นนักบริหารจัดการความว่าง เพราะ AI จะช่วยให้มนุษย์ว่างขึ้นมาก โดยที่ยังได้งานเท่าเดิม มนุษย์ไม่ต้องไปทำงานซ้ำซากแล้ว

นอกจากนี้หนุ่ย พงศ์สุขยังชี้ประเด็นว่า การทำงานของมนุษย์นั้นถูกปรับตามการบริษัทใหญ่ ที่ออกซอฟต์แวร์หรือโซลูชันมาให้เราใช้กัน เช่น เมื่อก่อนเราเรียน MS Office กัน เพราะมาตรฐานกำหนดว่าเราต้องใช้ Word, Excel, PowerPoint ในการทำงาน หรือวงการกราฟิกก็มี Adobe คอยกำหนดรูปแบบการทำงาน ซึ่งระยะหลัง Adobe ก็ใช้เอไอมาช่วยให้ทุกคนสามารถกลายเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ได้ หรือปัจจุบันตัวเร่งที่สำคัญเลยคือ Canva ที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในบริษัทไปหมด เอา AI ใน Canva มาช่วย แล้วเด็ก ๆ ยุคนี้ก็มองว่าคนใช้ PowerPoint คือคนแก่ 😂

มนุษย์กลัวตกงานเสมอ ตั้งแต่ ATM เข้ามาแล้ว หรือคอมพิวเตอร์เข้ามา คนก็กลัวตกงาน แต่เราก็ยังปรับตัวผ่านยุคสมัยเหล่านี้มาได้ อย่าง Costume Designer งานภาพนิ่ง อาจจะต้องคิดแล้วว่าต่อไปยังต้องการให้ไปแต่งชุดไหม เพราะงานภาพนิ่งก็สามารถเปลี่ยนชุดตัวแบบด้วย AI ได้ไม่ยาก แม้ว่าอาจจะไม่เนี้ยบ แต่ก็เสียตลาดงานที่ไม่ได้ต้องการความเนี้ยบไปเหมือนกัน

และในบรรดา Hardware, Software สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดในการทำงานคือ Peopleware อย่างคำว่า Digital Transformation ก็เริ่มกันมาตั้งนาน กว่าจะเปลี่ยนผ่านกันมาได้ ก็ต้องขอบคุณความลำบากในยุคโควิด ที่บีบให้พนักงานต้องทำงานแบบ New Normal ผ่านระบบดิจิทัลมากขึ้น

คำว่ารู้แล้วรู้เลยเป็นไปไม่ได้แล้วในยุคนี้ ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ ๆ เสมอ

หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์

การใช้ AI ช่วยในงานเขียน Creative Writing

วารุณี วิรุฬห์กร จากสำนักพิมพ์อ่านแล้วรวย

เซสชันเล็ก ๆ โดยคุณวารุณี วิรุฬห์กร จากสำนักพิมพ์อ่านแล้วรวย ที่เล่าประสบการณ์การใช้ AI มาช่วยในงานเขียน ที่สรุปได้ว่า

  • เราสามารถใช้แนะนำการใช้ช่วยทำหนังสือ เริ่มจากกรอก insight สิ่งที่อยากทำก่อน หรือจะเป็น insight ตัวเรา หรือธุรกิจ เพื่อขอคำแนะนำจาก AI
  • เช่นใช้ ChatGPT โดยเริ่มต้นจากบอกว่าเราเป็นใคร เป็นอะไร แล้วลองให้ร่างสารบัญออกมาก่อน ช่วยเขียนชื่อหนังสือ เขียนขอ SWOT เพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนได้ด้วย แถมเขียนให้ช่วยวางแผน PR ได้ด้วย
  • แต่ใช้ AI ในการเขียนหนังสือตอนนี้จะใช้ช่วยหาไอเดียมากกว่า เพราะถ้าใช้เขียนเลย มันจะเขียนวนไปวนมา แล้วเขียนยาว ๆ จะรู้ว่าไม่ใช่คนเขียน โดยเฉพาะกับงานภาษาไทย

การปฏิวัติสื่อด้วย AI

ดร. โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร จาก Tero Entertainment

เซสชันสุดท้ายที่เราได้ร่วมงานในวันนี้เป็นเซสชันที่เกี่ยวกับวงการสื่อโดยตรงจาก ดร. โชคชัย เอี่ยมฤทธิไกร จาก Tero Entertainment ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญออกมาได้ดังนี้

เปรียบเทียบเครื่องมือ AI ต่าง ๆ ในตลาด
  • คนแต่ง Jingle เสียงดนตรีต่าง ๆ โดยเฉพาะสำหรับงานวิทยุน่าจะตกงานไปแล้ว เพราะ AI สร้างได้เร็ว สร้างได้ง่าย มีเครื่องมืออย่าง Suno.com ที่เริ่มสร้างดนตรีประกอบต่าง ๆ ฟรีด้วย ถ้าใช้คล่อง ๆ สามารถอัป Sample เพลงขึ้นไปเพื่อให้มันทำเพลงให้เสร็จก็ได้
  • Tero Entertainment ใช้ Microsoft Copilot เป็นหลัก เพราะสามารถทำงานเป็นทีม และเก็บข้อมูลให้อยู่ในองค์กรได้
  • งานด้านมีเดียต้องอาศัยการถอดเทป ถอดคำพูดเป็นข้อความเยอะ ก็แนะนำ Speechnote เลย เป็นเครื่องมือที่แกะคำไทยได้ดีที่สุดแล้ว
  • Canva ก็สามารถใช้ในงานด้านมีเดียได้ มีแบบปก YouTube ให้เลือกเพียบ ซึ่งเป็นปกที่ดีไซน์มาแล้วว่าเหมาะกับ YouTube แถมสามารถเชื่อม Heygen ทำวิดีโอออกเสียงพูดได้ด้วย
  • งานด้าน SEO ก็ถามจาก Gemini ได้ ว่าควรใช้ keyword อะไรบ้างในมีเดียนั้น ๆ
  • ส่วน ChatGPT เก่งเรื่องไกด์ ก็ช่วยคิดโครงเรื่องคลิปสั้นได้ แต่เวลา prompt ให้ระบุ Persona, กำหนดงานให้ชัด, หาข้อมูลเพิ่ม, รูปแบบงานที่ต้องการ เพื่อให้ได้งานที่ต้องการ
เทคนิคการพรอมต์รูปยังไงให้ได้ผลงานออกมาดี

สุดท้าย ดร. โชคชันยังได้โชว์ TVAI คลังวิดีโอของไทยที่กำลังพัฒนาโดยใช้ AI มาช่วย ทำให้คนไทยมีคลังวิดีโอที่ย้อนอดีตได้ มีข้อมูลใส่ถูกต้องเพื่อให้ค้นหาภาพวิดีโอได้ง่าย ใช้เครื่องมือในการถอดเสียงในคลิปออกมาเพื่อให้ค้นหาได้ และใช้ AI ในการประกอบร่างข้อมูล เพื่อให้จัดการคลิประดับแสนหรือล้านคลิปได้ ซึ่งจะเปิดให้บริการเร็ว ๆ นี้

TVAI