สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC เดินหน้าผนึกกำลังทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน เสริมสร้างความแข็งแกร่งป้องกันและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนคนไทย จัดงาน “PDPC’s Alliance moving forward on PDPA 2024” พร้อมตั้งเป้าหมายใหญ่ตามวาระด่วนแห่งชาติ ข้อมูลรั่วไหลต้องเป็น “ศูนย์”
โดยการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดพิธี และได้กล่าวเป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ว่า
“การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมิใช่เป็นการใช้ข้อกฎหมายเท่านั้น แต่ต้องสร้างความตระหนักรู้ และความมั่นใจให้กับประชาชนคนไทยว่า ข้อมูลส่วนบุคคลของเขานั้นจะไม่ได้โดนละเมิด และได้รับการป้องกันพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมกับผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการปกป้องข้อมูลระดับสากล”
ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดงาน “PDPC’s Alliance moving forward on PDPA 2024” ที่ได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนมีจุดมุ่งหมายสำคัญเดียวกันในการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่
- ยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ และขึ้นสู่ระดับสากล
- ส่งเสริมให้มีการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการในทุก ๆ หน่วยงาน พร้อมใจสร้างความปลอดภัยป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
- สร้างความตระหนักรู้มองเห็นความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้แก่ประชาชน และหน่วยงานต่าง ๆ
ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ได้กล่าวว่า “ในวันนี้ หรือทุก ๆ วันเราจะต้องรับมือกับภัย และความท้าทายในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ได้มอบหมายภารกิจแก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นผู้วางกลยุทธ์ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนให้ครอบคลุมถ้วนหน้า และใช้วิธีการที่มีความทันสมัย”
“ที่ผ่านมาทาง สคส. ได้เปิด ศูนย์เฝ้าระวัง PDPC Eagle Eye เป็นศูนย์ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบ และระงับเหตุอันตรายที่เกิดจากการรั่วไหลข้อมูลแบบทันท่วงที ซึ่งทาง PDPC Eagle Eye ก็มีระบบตรวจสอบข้อมูลอัตโนมัติมาช่วยเฝ้าระวัง ลดความเสี่ยงจากการละเมิดข้อมูล และยับยั้งภัยคุกคามละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลก่อนที่จะเกิดความเสียหายได้ อีกทั้งระบบนี้ก็มีความแม่นยำสูงถึง 100%”
จากข้อมูลผลดำเนินงานเฝ้าระวังตรวจสอบพบเหตุการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหลังจากตั้ง ศูนย์เฝ้าระวัง PDPC Eagle Eye ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – กันยายน 2567 พบว่า ตรวจสอบข้อมูลไปแล้ว 43,561 หน่วย พบข้อมูลรั่วไหล 6,264 เรื่อง ได้รับการแก้ไขปัญหาแล้ว 6,259 เรื่อง และตรวจพบการนำข้อมูลไปขาย 144 เรื่อง
ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ 4 ข้อที่ก่อให้เกิดข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลก็คือ
- เปิดเผยข้อมูลเกินความจำเป็น
- ความผิดพลาดจากมนุษย์ (Human Error)
- Google Search
- จากความหละหลวมของหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
อีกหนึ่งวิธีการที่ทำให้ประชาชนคนไทยสามารถเข้าถึงการตรวจสอบ และป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลได้ก็คือ ใช้งานแอปพลิเคชัน “Smart PDPA” ดาวน์โหลดใช้งานได้แล้ววันนี้ผ่าน Google Play Store และ App Store
ในท้ายที่สุด ดร. เวทางค์ พ่วงทรัพย์ ได้กล่าวไว้ว่า “การจัดงานในครั้งนี้ได้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั่วประเทศกว่า 1,000 คน และมาร่วมกันผลักดันแผนแม่บทการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2567-2570 ที่จะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยให้เทียบเท่าระดับสากล”
นอกจากนี้บนเวทีงาน PDPC’s Alliance moving forward on PDPA 2024 ก็ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “การขับเคลื่อนแผนแม่บทการส่งเสริมและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศ พ.ศ. ๒๕๖๗ – ๒๕๗๐” โดยนายเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และอื่น ๆ อีกมากมาย อีกทั้งนอกงานยังมีการบูทนิทรรศการจากหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนให้ผู้มางานร่วมสนุกกับกิจกรรม และได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลกลับไปด้วย