27 มีนาคม 2568 – ทรู คอร์ปอเรชั่นร่วมกับศูนย์พัฒนาและออกแบบเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดโครงการ “Dynamic Cities via Mobility Data หลากชีวิตในเมืองที่โลดแล่น” เพื่อใช้ข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากร (Mobility Data) ทำความเข้าใจพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนใน 4 เมืองใหญ่ของไทย ได้แก่ มหานครกรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา โดยมุ่งหวังออกแบบเมืองที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนในเมืองที่มีความหลากหลาย
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Data Playground for Human Impacts ที่นำข้อมูลจากการใช้โทรศัพท์มือถือและแพลตฟอร์มดิจิทัล มาวิเคราะห์การใช้พื้นที่และเวลาของผู้คนในเมืองต่าง ๆ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับผู้คนทุกวัย เพราะเมืองเป็นมากกว่าที่อยู่อาศัย มากกว่าที่ทำงาน และมากกว่าที่ใช้ชีวิต
Mobility Data: ข้อมูลการเคลื่อนที่ของประชากรที่ถูกเก็บรวบรวมผ่าน Cellular Data หรือข้อมูลเครือข่ายมือถือในรูปแบบนิรนามที่สามารถบ่งบอกกระจุกตัวของประชากรในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละสถานที่ หรือแม้แต่รูปแบบการเดินทาง
Mobility Data ช่วยผู้ที่ทำงานด้านการพัฒนาผังเมืองเข้าใจความเป็นอยู่ของผู้คนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่แผนพัฒนาเมืองที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่เมือง และตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ Third Place หรือ พื้นที่ส่วนกลางที่ช่วยให้ผู้คนภายในเมืองสามารถเชื่อมต่อกัน และเพิ่มคุณภาพชีวิตของพวกเขา
ภายในงาน นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้เล่าถึงโครงการ Data Playground for Human Impact ถึงประโยชน์ในแต่ละมิติว่าการรวบรวม Mobility Data จะเข้ามาพัฒนาชีวิตของคนเมือง หรือแม้แต่แขกผู้มาเยือนเมืองนั้นได้อย่างไรบ้าง
ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เมืองอัจฉริยะ การรับมือกับภัยพิบัติหรือเหตุไม่คาดฝัน การออกแบบนโยบายให้เหมาะกับความหลากหลายของผู้คนในเมือง ไปจนถึงการฟื้นฟูหรือการสร้างท่องเที่ยว ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคสังคมและประชาชน
เพราะเมือง คือ เรื่องของทุกคน
ผู้คนในเมืองอาจเข้าใจว่าการดูแลและพัฒนาเมืองเป็นเรื่องของหน่วยงานจากภาครัฐ แต่แท้จริงแล้ว เรื่องของเมือง คือ เรื่องของเรา
นายอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงภาพการกระจุกตัวกันของผู้คนในแต่ละสถานที่ แต่ละช่วงเวลา และกิจกรรมผ่านการใช้ Mobility Data ซึ่งช่วยให้ทุกคนภายในงานเข้าใจคำว่าเมืองมากขึ้นผ่าน 3 มิติของเมือง
- มิติพื้นที่เมือง
- มิติเวลา
- มิติพฤติกรรมคนเมือง
โดยในแต่ละเมืองมีกระจุกตัวกันของผู้คนในแต่ละช่วงเวลาแตกต่างกันไป ซึ่งช่วยให้เราเห็นความหลากหลายของรูปแบบการดำเนินชีวิต ตั้งแต่พนักงานออฟฟิศในกรุงเทพ ฯ ที่เข้างานสายจากรถติด เทียบกับเชียงใหม่ที่เริ่มงานกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า รูปแบบการกระจายตัวกันในพักเที่ยงเพื่อพักผ่อนของผู้คน การกระจุกตัวกันของแต่ละช่วงเวลาอย่างมีนัยสำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับใหลจากการเข้ากะทำงานทุก 8 ชั่วโมง
หรือแม้แต่การจำแนกโซนทับซ้อนระหว่างย่านที่พัก และย่านทำงาน การกระจายตัวกันของผู้สูงวัยในกรุงเทพฯ ที่มีความเข้มข้นต่างกันไปในแต่ละทิศทาง
ในจังหวัดขอนแก่นที่มีบึงจำนวนมากเป็นอัตลักษณ์ของเมืองที่สามารถเชื่อมต่อผู้คนและพื้นที่ต่าง ๆ กัน ซึ่งสามารถนำไปทำแผนพัฒนาเมืองเพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตกับพื้นที่สีเขียวในเมืองได้มากขึ้น ปัญหารถติดภายในสงขลาในช่วงวันหยุดจากการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากประเทศมาเลย์เซีย หรืออู่วัฒนธรรม อย่างเชียงใหม่ที่มีวัดล้านนาอยู่ทั่วหัวระแหงที่สามารถนำมาพัฒนาแผนท่องเที่ยวได้
ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงจังหวะเวลาชีวิตของคนแต่ละเมือง และแนวทางการวางแผนพัฒนาเมืองจากจังหวะชีวิตของผู้คนเพื่อสร้างสมดุลในการใช้ชีวิตในสมการ 8:8:8 ได้แก่ การพักผ่อน การทำงาน และการใช้ชีวิต นายอดิศักดิ์ได้กล่าวทิ้งว่าข้อมูลและวิเคราะห์ที่ได้เห็นเป็นเพียงไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์จากข้อมูลทั้งหมด
Dynamic Cities via Empathy Data โดยอาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ก่อนปิดท้ายด้วยเซสชันพิเศษจากผู้ที่พัฒนากรุงเทพฯ มาอย่างต่อเนื่อง โดย รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เริ่มต้นความประทับใจล้อไปกับคอนเซปต์ของงานครั้งนี้ Dynamic Cities via Empathy Data ในหัวข้อ “เมืองที่ดี จากเสียงของผู้คน”
รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาเมืองจากประสบการณ์จริงว่านอกจาก Mobily Data แล้ว ผู้พัฒนาจำเป็นต้องมี Empathy Data หรือความเข้าอกเข้าใจความรู้สึกของผู้คนในเมืองถึงจะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง
ซึ่งมาจากการที่ตนเองได้ลงพื้นที่เข้าไปสัมผัสกับปัญหาของผู้คนที่การเก็บข้อมูลจากสัญญาณโทรศัพท์ไม่สามารถบอกได้ หรือแม้แต่คนไร้บ้านในพื้นที่เมืองที่ไม่สามารถเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้พัฒนาไม่สามารถมองข้ามได้
โดย รศ. ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้ยกตัวอย่าง Traffy Fondue แพลตฟอร์แก้ไขปัญหาเมืองที่ทุกคนสามารถส่งปัญหาเมืองที่ตนพบเจอในชีวิตแต่ละวันผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งจะถูกรับเรื่องโดย AI และแจกจ่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมมีการติดตาม และการให้คะแนนจากประชาชน เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว
จากสถิติการใช้งาน เห็นได้ว่าผู้คนให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองเพื่อส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้นผ่านการใช้เทคโนโลยี
ทั้งหมดนี้ เพราะเมือง คือ เรื่องของทุกคน การใช้ Mobility Data จึงไม่เพียงแค่เป็นการเก็บข้อมูล แต่เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบเมืองที่ตอบสนองต่อชีวิตจริงของผู้คน เพื่อให้ทุกคนในเมืองได้สัมผัสการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน