การมาของปัญญาประดิษฐ์ไม่เพียงแต่พลิกโฉมโลกการทำงาน แต่ยังเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษาด้วย “เราจะปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง” คือคำถามสำคัญที่ทุกภาคส่วนในการศึกษาต้องร่วมมือกันหาทางออก แน่นอนว่าการเตรียม “คน” ให้มีความพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และเกิดขึ้นตลอดเวลา คือเรื่องสำคัญที่รอไม่ได้

เพื่อให้ก้าวทันโลก AI ที่เปลี่ยนไป บมจ. ซีพี ออลล์ เลยร่วมกับ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) และโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ จัดงาน “CP ALL EDUCATION FORUM 2025: สร้างคนเก่ง คนดี มีความสามารถ ผ่านการศึกษายุค AI” เพื่อส่งเสริมการศึกษา และพัฒนาเยาวชน ในการสร้าง “เยาวชนไทย” ผ่านการศึกษาให้เป็น คนเก่ง คนดี มีความสามารถ ด้วยการมอบทุนการศึกษาผ่านเครือข่ายความร่วมมือกว่า 41,900 ทุน มูลค่ารวมกว่า 1,648 ล้านบาท สร้างโอกาสทางการศึกษาสู่เยาวชนไทยกว่า 56,883 คน

นายยุทธศักดิ์ ภูมิสุรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ร่วมเปิดมุมมอง CP ALL Education Way – การเรียนรู้ที่เติบโตไปพร้อมโลกอนาคต ผ่าน 3 แนวทางสร้างคนผ่านการศึกษา “เก่ง ดี มีความสามารถ”
1. สร้างคน “เก่ง” เก่งคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) เก่งเทคโนโลยี (AI & Digital Skills) และเก่งเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning)
2. สร้างคน “ดี” เก่งอย่างเดียวไม่พอ โลกอนาคตต้องการคน “ดี” ที่มาจาก DNA ซึ่งเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนรวมถึงครู อาจารย์ทุกท่านที่ต้องร่วมกันปลูกฝังจริยธรรม ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจผู้อื่น พลังแห่งความดีนี้จะทำให้เยาวชนเติบโตเป็นคนที่ “คิดดี พูดดี ทำดี กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง”
3. สร้างคน “มีความสามารถ” พร้อมปรับตัว พร้อมเชื่อมโลก ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ Work-based Education ซึ่งผสานการเรียนรู้กับการทำงานจริง เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะและความพร้อมในการก้าวสู่การทำงานทันทีหลังสำเร็จการศึกษา (Ready to work)

ปฏิเสธไม่ได้ว่า AI และเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงโลกของเราไปอย่างสิ้นเชิง ในอดีตองค์กรต้องการคนเก่ง แต่วันนี้องค์กรต้องการ “คนที่เรียนรู้เร็ว ปรับตัวได้ไว และมีความรับผิดชอบต่อสังคม” เราเชื่อว่า AI ไม่ได้มาแทนคน แต่คนใช้ AI เป็น จะมาแทนคนที่ใช้ AI ไม่เป็นและนั่นคือเหตุผลที่ซีพี ออลล์ สร้างแนวทางการศึกษา ที่ผสานการทำงานของคน+AI และเทคโนโลยี เกิดเป็นนวัตกรรม เพื่อเตรียมคนให้พร้อมรับมือกับโลกที่ไม่หยุดนิ่ง
การเรียนรู้ในรูปแบบของซีพี ออลล์ คือเอาลูกค้าเป็นศูนย์กลาง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าตลอดเวลา รู้จักใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้คนทำงานง่ายขึ้น เราจะไม่ล้ำสมัย แต่เราจะไม่ล้าสมัย เดินหน้าคิดค้นนวัตกรรม รู้จักเอ๊ะ ! PDCA Plan-Do-Check-Act หรือวางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา “From By Chance to By Design” จากกระบวนการทดลองบางสาขา สู่การออกแบบอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ทุกสาขา ทุกเวลา ให้บริการเหมือนกัน ทำให้เป็น Knowledge Management หรือ KM เพื่อรวบรวมองค์ความรู้และให้ทุกคนสามารถเข้าถึง “องค์ความรู้” พร้อมสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านการพัฒนา “คน” ให้พร้อมอยู่ร่วมกับ AI ยกตัวอย่าง สมัยก่อนคนวิ่งแข่งกับม้า คนกลัวม้า ก็หาวิธีคุมม้า สมัยนี้คนกลัว AI ก็หาวิธีคุม AI
CP ALL EDUCATION FORUM 2025 ไม่ใช่แค่งานสัมมนา แต่เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติการศึกษาไทย เพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่พร้อมเผชิญความท้าทายในโลกอนาคต ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ มุ่งมั่นสร้างคนผ่านการศึกษาตามแนวทาง นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อสร้างโอกาสและสร้างรากฐานทางการศึกษา ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาทุกระดับผ่านการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายการศึกษา
- ปี 2538 ร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษารัฐบาล ผลิตนักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช. และปวส.
- ปี 2548 สร้างโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจเป็นแห่งแรก ต่อมายกระดับเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ (PAT) ผลิตนักเรียน นักศึกษา ระดับ ปวช. และปวส.
- ปี 2549 ขยายศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์กว่า 20 ศูนย์ทั่วประเทศ
- ปี 2550 สร้างสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ยกระดับการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา
- ปี 2550-2559 ขยายความร่วมมือร่วมกับเครือข่ายการศึกษา ร่วมกับ สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เครือข่ายอุดมศึกษา, โครงการสนับสนุนทุนการศึกษาเพื่ออาชีพแก่เยาวชนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี (Connext ED)
- ปี 2560 สร้างโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ สาธิตพีไอเอ็ม เปิดสอนระดับมัธยมศึกษา
- ปี 2565 เปิดสถาบันการศึกษาวิทยาการหุ่นยนต์ ALL Robotics ซึ่งเป็นความร่วมมือพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์สำหรับภาคการศึกษาระหว่าง Robot LAB สหรัฐอเมริกา
- ปี 2568 ขยายความร่วมมือร่วมกับมูลนิธิชาวปักษ์ใต้ และมูลนิธิรักเมืองไทย

นอกจากนี้ บนเวทียังมีช่วงเสวนาให้ความรู้จาก กูรูผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและเทคโนโลยี จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสื่อ ในหัวข้อพิเศษ “โอกาสและความท้าทายของการศึกษาไทยในยุค AI” กับวิทยากร ผศ.ดร. ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa), รศ.ดร. สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ ลาเต้-มนัส อ่อนสังข์ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชัน เว็บไซต์ Dek-D

และยังมีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง นวัตกรรุ่นใหม่ ที่มาร่วมถ่ายทอดมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ ในหัวข้อ The Changemakers: Social Effects in the AI Era” จาก เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตบำบัดและอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดัง, หมอฟรัง นรีกุล เกตุประภากร แพทย์, KOL, เจ้าของธุรกิจ, เจ้าของเพจ LaohaiFrung และ ภูมิ-อภิภูมิ ชื่นชมภู นวัตกรวัยเยาว์ที่มีความมุ่งมั่นด้านการพัฒนาการศึกษาและนวัตกรรม

เรามี AI มาช่วยงานเรา แต่มันจะเสริม EQ (Emotional quotient) เราด้วย
ทั้งนี้มี หนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการตลอดงาน เพื่อชวนค้นหาคำตอบการศึกษาไทยในยุคที่ “AI” และแนวทางในการปรับตัวของมนุษย์ในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ภายในงานมีเครือข่ายการศึกษา คณาจารย์ นักเรียนเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน