หนึ่งเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นไฮไลท์ของงาน AIS Vision คือ NB-IoT หรือ Narrow band Internet of Things ครับ ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ล่าสุดของการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ต่างๆ เข้าสู่อินเทอร์เน็ตมือถือ แทนที่จะเชื่อมต่อผ่าน 3G/4G ตามปกติครับ
ทำไมต้องใช้ NB-IoT แทน 3G/4G
เพราะเทคโนโลยีอย่าง 3G/4G นั้นออกแบบมาสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครับ ทำให้กินทรัพยากรในเครือข่ายสูง และใช้พลังงานมาก ซึ่งอุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงขนาดนั้น เพราะการทำงานส่วนใหญ่ก็คือการรับคำสั่ง และส่งค่าต่างๆ กลับไปยังเซิร์ฟเวอร์เท่านั้น
โดย NB-IoT ที่ AIS เริ่มต้นนำมาใช้งานบนคลื่น 900 MHz นั้นมีความเร็วอัปโหลดเพียง 60 kbps และดาวน์โหลดเพียง 30 kbps เท่านั้น แต่ Cell Site ส่งสัญญาณมือถือ 1 ต้นจะสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT ได้รัศมีถึง 10 กิโลเมตร และเชื่อมต่อพร้อมกันได้ราวๆ 1 แสนตัวครับ
AIS เชื่อว่าต่อไปจำนวนอุปกรณ์เชื่อมต่อเน็ต จะมากกว่าคน
จึงสรุปเป็นข้อดีของ NB-IoT ได้ดังนี้ครับ
- ใช้พลังงานต่ำ แบตเตอรี่เล็กๆ ชุดหนึ่งอาจให้พลังงานตัวเซนเซอร์ได้นานนับสิบปี หรือถ้าใช้พลังงานจาก Solar Cell ก็จะแผงเล็กกว่าเดิมมาก
- รองรับการเชื่อมต่อของอุปกรณ์จำนวนมากพร้อมๆ กัน
- สามารถใช้ได้ทั้งในอาคาร และพื้นที่ใหญ่ๆ
- อุปกรณ์ราคาถูกกว่า เพราะไม่ต้องออกแบบให้ซับซ้อน ทำหน้าที่อย่างเดียวไปเลย
- เริ่มต้นใช้งานง่าย ทำงานผ่านเครือข่ายที่มีการตั้งเสาอยู่แล้ว
ตัวอย่างการใช้งาน NB-IoT
ในงาน AIS Vision 2017 เอไอเอสได้สาธิตตัวอย่างของ NB-IoT ให้เข้าใจกันง่ายๆ กับ 4 สถานการณ์ดังนี้

Smart parking – ด้วยการฝังเซนเซอร์ไว้ในที่จอดรถ ทำให้ผู้ใช้สามารถดูผ่านแอปได้ว่ามีที่จอดรถเหลือขนาดไหน และสามารถจองที่จอดรถก่อนได้

Smart tracking – สามารถติดเซนเซอร์เอาไว้ที่สัตว์เลี้ยง หรือตัวบุคคล เพื่อติดตามตำแหน่งได้ ซึ่งมีข้อดีกว่าการใช้ Bluetooth คือระยะการทำงานกว้างกว่ามาก และดีกว่า 3G/4G ตรงเซนเซอร์มีอายุทำงานได้ยาวนานกว่าครับ

Smart metering – ใช้เซนเซอร์ติดกับมิเตอร์ตัวทุก ทำให้ส่งข้อมูลกลับมาเข้าระบบได้โดยไม่ใช้เจ้าหน้าที่เก็บ ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บค่าน้ำค่าไฟลง

Smart farming – เซนเซอร์ IoT ไปอยู่ในอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศความชื้น ทิศทางลม เพื่อการเกษตรยุคใหม่ที่เน้นความละเอียดของข้อมูล นำไปวิเคราะห์สร้างผลผลิตที่ดีขึ้น
ถ้าสนใจต้องการใช้ NB-IoT ต้องทำอย่างไร
AIS เริ่มเปิดให้บริการ NB-IoT แล้ว แต่ผู้สนใจต้องติดต่อกับ AIS โดยตรงเพื่อคุยรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย และการติดตั้งครับ เพราะ AIS จะต้องปรับปรุงอุปกรณ์ใน Cell Site ที่จะใช้ด้วย โดย AIS สามารถช่วยติดต่อหาพาร์ทเนอร์เพื่อสร้างอุปกรณ์ IoT ที่รองรับเครือข่ายนี้ได้ด้วย