นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ได้เปิดเผยแผนการประมูลคลื่นความถี่ 850 MHz และความถี่ 1800 MHz ว่า ทาง กสทช. ได้มีการจัดเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่ทางดีแทคได้ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน ภายใต้สัญญาสัมปทานแบบเดิม ซึ่งสัญญาสัมปทานฉบับนี้จะหมดลงในเดือนกันยายน 2561 กสทช. จึงได้จัดเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าในเดือนมีนาคม 2561
สำหรับคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูลใหม่ในครั้งนี้ ได้แก่…
- คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz รวม 45 MHz
- คลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 1 ใบอนุญาต จำนวน 10 MHz
- คลื่นความถี่ 2600 MHz จำนวน 4 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 20 MHz รวม 80 MHz
ซึ่งคลื่นความถี่ที่นำมาประมูลในครั้งนี้นั้น เป็นคลื่นที่อยู่ในระบบสัมปทานเดิม โดยดีแทคได้ถือคลื่นความถี่ 850 MHz จำนวน 10 MHz และ 1800 MHz จำนวน 25 MHz อีกจำนวน 20 MHz ที่นำมาประมูลนั้น เป็นคลื่นความถี่ที่กสท. โทรคมนาคม หรือ CAT ได้ถือครองไว้ และจะหมดสัมปทานลงในปี 2561 เช่นกัน
ส่วนคลื่นความถี่ 2600 MHz ที่นำมาประมูลร่วมด้วยนั้น เป็นคลื่นความถี่ที่บมจ. อสมท. ได้รับสัมปทาน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 190 MHz แต่ทางอสมท. ได้คืนคลื่นความถี่ที่มีอยู่ส่วนหนึ่ง มอบให้ กสทช. นำมาประมูลทางด้านโทรคมนาคม จำนวน 80 MHz ส่วนที่เหลือ อสมท. ยังคงใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้งานในด้านการให้บริการระบบโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก
ส่วนเหตุผลที่ว่า “ทำไมต้องประมูลในเดือนมีนาคม 2561” เลขาธิการ กสทช. ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า…
“เพื่อให้เอกชนได้เตรียมตัวในการให้บริการ โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งาน และไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการตามมาตรการแผนเยียวยา”
ซึ่งคลื่นความถี่ที่ดีแทคถือครอง ทั้ง 850 MHz และ 1800 MHz จะหมดสัญญาสัมปทานลงในเดือนกันยายน 2561 ดังที่กล่าวมาในช่วงต้นนั่นเอง
ครั้งนี้ต้องจับตากันต่อไปว่า ดีแทค จะสามารถชนะการประมูลในครั้งนี้ได้หรือไม่ หรือจะมีค่ายใดที่ได้คลื่นเหล่านี้ และขึ้นแทนที่ดีแทคที่อยู่ในอันดับที่ 2 ของตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทยได้สำเร็จ หรือจะมีหน้าใหม่รายใด ที่กล้าลงประมูล แต่ที่แน่ๆ JAS ไม่มีสิทธิ์ในการประมูลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้อย่างแน่นอน
และรวมไปถึงการประมูลในครั้งใหม่นี้ จะหามรุ่งหามค่ำ และ “เลือดสาด” เหมือนครั้งประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz เมื่อช่วงปลายปี 2558 หรือไม่นั้น ต้องติดตาม…
ที่มา: Post Today, Manager