จากก่อนหน้านี้ที่มีข่าวการเรียกรถอูเบอร์ เพื่อล่อซื้อและเข้าจับกุม ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และในพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงมีข่าวออกมาในทำนองที่ว่า จะใช้มาตรา 44 ในการสั่งปิดแอป ซึ่งต่อมามีการให้สัมภาษณ์ว่า “เป็นแค่แนวคิดเท่านั้น…”
อ่านเพิ่ม: “UBER” หายใจโล่ง! “คมนาคม” ยัน ยังไม่ใช้ม.44 ปราบ (ฐานเศรษฐกิจ)
ล่าสุด บริการอูเบอร์ในประเทศไทย มีการออกมาแสดงท่าทีในกรณีที่กล่าวมาข้างต้น ผ่านทางเพจ Uber ว่า…
นอกเหนือจากนี้ ยังมีการเปิดหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาใหม่ ในชื่อ action.uber.org/th เพื่อให้ผู้ที่ใช้บริการอูเบอร์ รวมไปถึงประชาชนคนทั่วไป ร่วมกันลงชื่อเพื่อให้ทางรัฐบาล ได้ทำการแก้ไขพรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นพรบ. ที่มีการใช้งานมายาวนานถึง 38 ปี แต่ยังไม่มีการอัปเดตตัวข้อกฎหมายบางประการเพื่อให้รองรับกับการให้บริการรถโดยสารในรูปแบบใหม่ และรวมถึงตัวพรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 นี้ ยังไม่ได้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้ประเทศไทย ก้าวสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0”
อูเบอร์ ยังยกข้อดีที่บริการอูเบอร์ ควรมีต่อไป ดังนี้
- Uber ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจร
- Uber มีนโยบายไม่ปฏิเสธการเดินทางหรือจุดหมายปลายทาง
- Uber ให้ความสำคัญต่อมาตรการความปลอดภัยในทุกช่วงของการเดินทาง
- ผู้โดยสารที่ใช้ Uber ได้รับบริการที่มีคุณภาพและความพึงพอใจในการเดินทาง
- Uber มีบริการที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีค่าโดยสารที่โปร่งใสเป็นมิตรกับผู้โดยสาร
และเหตุผลในการให้รัฐบาลปรับปรุง และแก้ไข พรบ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ดังนี้
- ให้รองรับบริการร่วมเดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปตามนโยบายและสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไป
- ให้รองรับทางเลือกในการเดินทางของคนไทยและนักท่องเที่ยวตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ให้ทางเลือกแก่ผู้เดินทาง
- ให้ส่งเสริมการทำงานของผู้ประกอบการรายย่อยของไทย และ
- ผลประโยชน์สูงสุดของรัฐบาลฯ ที่จะได้จากการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการระบบขนส่งในเมืองต่างๆในประเทศไทยเพื่อช่วยลดระยะเวลาการรอคอยรถสาธารณะที่มีอยู่และแก้ไขปัญหาการจราจร รวมทั้งทำให้รัฐบาลสามารถจัดเก็บภาษีต่างๆภายใต้ระบบกฎหมายได้
ซึ่งใครที่สนใจร่วมลงชื่อ สามารถร่วมลงชื่อได้ที่ action.uber.org/th ซึ่งทางอูเบอร์ได้ตั้งเป้ารายชื่อไว้ที่ 30,000 รายชื่อ (ตอนนี้เหลือไม่ถึงหนึ่งหมื่นรายชื่อแล้ว) และจะนำรายชื่อทั้งหมดนี้ ยื่นให้กับตัวแทนของรัฐบาล เพื่อรับเรื่องดังกล่าวนี้ไว้พิจารณาและดำเนินการต่อไป
ที่มา: Facebook Uber, Action.uber.org/th