สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ DEPA ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP และ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB พร้อมกับ 5 สมาคมทางด้านดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ประกอบด้วย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) , สมาคมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย (DCAT) , สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย (e-LAT) , สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) และ สมาคมธุรกิจบางกอกเอซีเอ็มซิกกราฟ (BASA) เปิดมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์แห่งปี “BIDC 2017” ปรับยุทธศาสตร์โฟกัส B2B หวังกระตุ้นเม็ดเงินและหนุนการส่งออกของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น พร้อมจัดแสดงผลงานจากบริษัททางด้านดิจิทัลชั้นนำของไทยทั้งด้าน Animation Game E-learning Computer Graphics และ Visual Effect การจับคู่เจรจาทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทยและเทศ นอกจากนี้ยังจะได้พบกับผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลระดับโลก ที่พร้อมใจกันตบเท้าเข้าร่วมงานและถ่ายทอดความรู้กันอย่างคับคั่ง
DEPA ดันดิจิทัลคอนเทนต์เป็นกลไกหลักในยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
คุณมีธรรม ณ ระนอง รักษาการผู้เชี่ยวชาญพิเศษปฎิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า DEPA มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีในมิติต่าง ๆ และหนึ่งในภารกิจสำคัญคือ การพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้ในเชิง ยุทธศาสาตร์การพัฒนาประเทศเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลรอบด้านได้อย่างสมบูรณ์ โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการพัฒนาบุคลากร การเข้าหาแหล่งเงินทุน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อเสริมศักยภาพทำให้ดิจิทัลคอนเทนต์ไทยให้แข็งแกร่ง เป็นที่ยอมรับ และสามารถการสร้างรายได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศได้
ล่าสุดเปิดมหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ “Bangkok International Digital Content Festival 2017” (BIDC 2017) ด้วยแนวคิด “Digital Wonderland” ความมหัศจรรย์ของดิจิทัลคอนเทนต์ ที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศของทุกๆ อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเทศกาลประจำปีที่ใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรม จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 4 และใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมฯ เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการทางด้านดิจิทัลของไทยด้าน Animation Game E-learning Computer Graphics และ Visual Effect ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในศักยภาพจากนานาประเทศ โดยในปีนี้ได้ปรับกลยุทธ์ในการจัดงานโฟกัส Business to Business (B2B) ในสัดส่วนที่มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแตกต่างจาก 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์มีการขยายตัวและเติบโต และมีบทบาทต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมากขึ้น ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการทั้งในการจัดงานที่ดึงนานาชาติเข้าร่วม เพื่อจะได้พบปะ เจรจาทางธุรกิจและตระหนักถึงศักยภาพดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่พร้อมจะเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ด้วยความพร้อมทางด้านฝีมือ บุคลากรและการส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง นอกจากนี้ผลการสำรวจพบว่าในปี 2558 มีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 12,000 ล้านบาท และมีข้อมูลการส่งออกคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 1,500 ล้านบาท
“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น ก้านกล้วย ของกลุ่มบริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น สตูดิโอ จำกัด และยังมีของ กลุ่มบริษัทวิธิตา แอนิเมชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายการ์ตูนขายหัวเราะ ตัวการ์ตูนปังปอนด์และหนูหิ่น ส่วนกลุ่มเกม ได้นำเกมมาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และเป็นส่วนหนึ่งของการทำตลาดของแบรนด์สินค้าหรือบริการ โดยใช้ความสามารถในการสร้างประสบการณ์ที่สนุกหรือเสมือนจริงจากการสร้างเกมมาช่วยเหลือภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น การใช้เทคโนโลยี VR เข้ามาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นการให้ลูกค้าได้สัมผัสบรรยากาศที่พักจริง และในอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ สามารถชมบ้านตัวอย่างผ่านออนไลน์ เป็นต้น ทางด้าน e-LAT ซึ่งสนับสนุนนโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิต เช่น การเรียนรู้ด้านกฏหมายผ่านสื่อ e-Learning ทางด้าน TACGA ที่นำแอนิเมชันทั้ง Feature Films, TV Series, Short Animation ที่เป็นการ์ตูนของไทยและผลิตผลงานให้กับต่างประเทศ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง Final Fantasy และ XV: Kingsglaives เป็นต้น ซึ่งทุกกลุ่มประสบผลสำเร็จเป็นที่รู้จักของตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดทางธุรกิจด้วย”คุณมีธรรม ณ ระนอง กล่าว
กรมส่งเสริมฯ เปิดโต๊ะเจรจาดันดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่อินเตอร์
คุณวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจ (Business Matching) คือส่วนสำคัญของงาน “Bangkok International Digital Content Festival 2017” ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยโดยเฉพาะตลาดส่งออกซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์นโยบายของรัฐบาลและการจัดงาน BIDC 2017 ปีนี้ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใหม่ ๆ ได้จับคู่ธุรกิจกับบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และเกาหลี รวมกว่า 40 ราย เช่น CARTOON NETWORK STUDIOS จากประเทศสหรัฐอเมริกา CCTV ANIMATION CO จากประเทศจีน MIXI INC (XFLAG STUDIO) จากประเทศญี่ปุ่น และบริษัทในประเทศไทยอีก 60 รายเข้าร่วมกิจกรรม และงานครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ Japan External Trade Organization (JETRO) ที่ได้เชิญวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงจาก TV Tokyo Communications Corporation มาร่วมสัมมนาในครั้งนี้ด้วย ซึ่งการดำเนินกิจกรรมในส่วนนี้จะเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งในการผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
กลุ่มอุตสาหกรรมฯ พร้อมดันเป็นไทยเป็นฮับ
คุณธิดารัธ ธนภรรคภวิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (TGA) และ ผู้แทนสมาคมผู้จัดงานฯ กล่าวว่า การจัดงาน “Bangkok International Digital Content Festival 2017” เกิดจากการผนึกกำลังของภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียนและมีเป้าหมายขยายสู่ระดับโลก รวมถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมดิจิทัลมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง สำหรับบทบาทของกลุ่มสมาคมได้ดำเนินการสนับสนุน ช่วยเหลือด้านธุรกิจการค้าและการพัฒนาสินค้าแก่สมาชิก รวมถึงสร้างเครือข่ายทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและผู้ประกอบการในการเชื่อมโยงทั้งสองส่วน เพื่อให้การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโต สอดรับกับนโยบายประเทศที่จะผลักดันให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยเฉพาะตลาดส่งออกดิจิทัล คอนเทนต์
TCEB โชว์ศักยภาพประเทศจัดเมกะอีเว้นท์คับคั่ง
คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ประธานคณะทำงาน Bangkok Entertainment Fest 2017 และประธานกรรมการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) กล่าวว่า “Bangkok International Digital Content Festival 2017” หนึ่งในงานภายใต้ Bangkok Entertainment Fest 2017 นับเป็นการแสดงศักยภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ของประเทศไทยที่จะเผยแพร่ให้ต่างประเทศได้รับรู้และเข้ามาร่วมทำธุรกิจกับผู้ประกอบการไทย TCEB ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการจัดประชุมและนิทรรศการระดับประเทศ รวมถึงการพัฒนาเมกะอีเวนท์ขนาดใหญ่ของประเทศ เชื่อมั่นว่าการผนึกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้อุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยเติบโตยิ่งขึ้น เนื่องจากในงานนี้มีการรวมตัวของผู้ประกอบการชั้นนำมาจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งนี้มั่นใจว่าประเทศไทยจะก้าวเป็นผู้นำ การจัดงานระดับโลกสำคัญๆ อีกมากมาย
คุณมีธรรม ณ ระนอง รักษาการผู้เชี่ยวชาญพิเศษปฎิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมปิดท้ายว่า ในงาน “Bangkok International Digital Content Festival 2017” ครั้งนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 24 มีนาคม 2560 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ประกอบด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
- การแสดงศักยภาพและผลงานทางด้านดิจิทัลของผู้ประกอบการไทย พร้อมการมอบรางวัลในสาขา ต่าง ๆ “BIDC Awards 2017” ให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่มีผลงานโดดเด่นในรอบปี เพื่อเป็นต้นแบบในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยและดิจิทัล กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดความสำเร็จในอนาคต
- กิจกรรมการเจรจาธุรกิจ กับผู้ประกอบการรายสำคัญในธุรกิจดิจิทัลจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ จีนและเกาหลี รวมกว่า 40 ราย เข้าร่วมการเจรจาธุรกิจกับนักธุรกิจไทย 60 ราย
- งานสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบิตการ (Seminar & Workshop) รวมกว่า 20 หัวข้อ จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลก