ดูเหมือนว่าประเด็นการต่อสู้ระหว่างแอปเรียกแท็กซี่จากต่างประเทศอย่าง Uber และ Grab กับผู้ให้บริการแท็กซี่ในไทยจะยังไม่จบง่ายๆ ล่าสุด Smart Taxi แอปพลิเคชั่นสำหรับเรียกแท็กซี่ในไทย ที่เป็นพันธมิตรกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้เสนอ 3 ข้อเสนอที่จะลดปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร

ข้อเสนอของเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่คือ

  1. ผู้โดยสารเดินทางไปสนามบินสุวรรณภูมิ ต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเติมจากมิเตอร์ 50 บาท (เหมือนตอนเรียกแท็กซี่กลับจากสุวรรณภูมิ)
  2. ถ้าเรียกแท็กซี่ในชั่วโมงเร่งด่วน คือ 6.00 – 9.00 และ 16.00 – 19.00 น. ต้องจ่ายเพิ่มอีก 50 บาท
  3. จองล่วงหน้าผ่านแอป Smart Taxi และผ่านวิทยุ ต้องจ่ายเพิ่มอีก 50 บาท

ซึ่งในเฟซบุ๊กของ Smart Taxi ได้อธิบายข้อเสนอนี้ว่าเป็นการเก็บเพิ่มสูงสุด 50 บาทเท่านั้น ไม่ใช่เรียกผ่านแอป ไปสนามบิน ในชั่วโมงเร่งด่วน จะคิดเพิ่ม 150 บาท

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิจารณ์ข้อเสนอนี้ออกมาอย่างกว้างขวางว่าคิดในมุมผู้ขับแท็กซี่เป็นหลัก ไม่ได้ช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้ใช้บริการอย่างที่ Uber หรือ Grab ปฎิบัติต่อลูกค้า ที่นอกจากจะหาทางคิดค่าโดยสารเพิ่มขึ้นแล้ว ระบบการเรียกแท็กซี่ก็ยังแข่งขันกับแอปในท้องตลาดไม่ได้

Play video

ดาวน์โหลดแอป Smart Taxi

ปัญหาแท็กซี่ ระเบิดที่ประทุแล้วของผู้โดยสาร

ต้องยอมรับว่าคนไทยอึดอัดกับบริการรถประจำทางหลายรูปแบบมาตลอด ทั้งปัญหาแท็กซี่ไม่รับผู้โดยสาร ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเล่า แต่ทุกคนที่โบกแท็กซี่เคยเจอกับปัญหานี้ทั้งนั้น หรือปัญหารถแดงในเชียงใหม่ ที่คิดค่าโดยสารไม่มีมาตรฐาน หรือปัญหารถสองแถวแออัด กีดขวางการจราจร จนกลายเป็นประสบการณ์ร่วมกันของคนที่ใช้ชีวิตในประเทศไทย

ที่ผ่านมาผู้ให้บริการขนส่งไม่เคยคิดถึงใจลูกค้า

แม้ว่าแท็กซี่และบริการรถโดยสารแบบดั้งเดิมจะมีกฎหมายสนับสนุน และผู้มีอำนาจคอยดูแล แต่เพราะภาพลักษณ์ติดลบกับผู้โดยสารที่มีมาก่อนแล้ว การจะมาต่อรองผู้โดยสารเพื่อขอขึ้นราคา ดูจะเป็นข้อเรียกร้องที่หลายคนยอมรับไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อ Uber และ Grab ให้บริการได้ดีกว่า ในราคาถูกกว่า ทำไมผู้ใช้ต้องยอมจ่ายมากกว่าด้วย

มองในมุมผู้ให้บริการ ที่ตลาดกำลังถูกทำลาย

ต้องยอมรับว่าการเป็นผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะต้องแบกรับต้นทุนสูง ทั้งภาษี และเงื่อนไขการประกันที่ต้องครอบคลุม และยังมีกรอบค่าบริการตามที่กฎหมายกำหนดด้วย ไม่สามารถอยู่ๆ มาขึ้นค่าบริการได้เหมือน Uber ที่ชาร์จหนักเป็นพิเศษ เวลาที่มีคนเรียกใช้เยอะๆ

เมื่อถูกบริษัทจากต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาด ด้วยค่าบริการที่ถูกกว่าความจริง (เชื่อหรือไม่ว่าUber อยู่ในภาวะขาดทุนมาตลอด เพราะเงินส่วนใหญ่เอามาทุ่มค่าบริการให้ถูก และเอามาสู้กฎหมายในแต่ละประเทศ) จึงออกอาการเซ และมีความกลัวว่ารายได้ของตัวเองกำลังถูกทำลายอย่างไม่เท่าเทียม

เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ แอดก็ยังคิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร เมื่อผู้ใช้บริการถูกกระทำจากระบบขนส่งสาธารณะมาตลอดจนไม่เหลือความเห็นใจผู้ให้บริการ ส่วนกฎหมายต่างๆ ก็ยังไม่เอื้อให้ระบบใหม่อย่าง Uber, Grab ทำงานได้เต็มที่