หัวเว่ยประกาศยอดขายในไทยครึ่งปีแรก ขายเครื่องได้มากกว่า 8 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าในเชิงมูลค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คว้าส่วนแบ่งการตลาด 10.7% ในเดือนพฤษภาคม 2560 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ได้ส่วนแบ่ง 1.2%
ส่วนหัวเว่ยในระดับโลกมียอดขายรวมมากกว่า 73 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 20.6% ส่วนรายได้โตขึ้น 36.2% และส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 8.4% เป็น 9.8% ถือเป็นสมาร์ทโฟนอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเมื่อดูตัวเลขแล้วจะเห็นว่าประเทศไทยมีการเติบโตมากกว่าภาพรวมของหัวเว่ยในระดับโลกอีก
ทำไม Huawei ไทยถึงประสบความสำเร็จ
คุณทศพร นิษฐานนท์ รองผู้อำนวยการ หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ได้กล่าวถึงความแข็งแกร่ง 4 ด้านที่ทำให้หัวเว่ยไทยประสบความสำเร็จคือ
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ หัวเว่ยสร้างผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของลูกค้า มี R&D Center 15 ศูนย์ กระจายอยู่ทั่วโลก เช่น ศูนย์วิจัยด้าน UI ก็อยู่ที่ซานฟราน ศูนย์ดีไซน์อยู่ปารีส ใช้เงินลงทุนวิจัย 10% ของยอดขาย ผ่านมาสิบปีลงทุนไปมากกว่า 45 พันล้านเหรียญ นอกจากนี้ยังมีการร่วมลงทุนกับแบรนด์ต่างๆ เช่น Leica, pantone เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์
- การขยายช่องทางจัดจำหน่าย ในเมืองไทยมี experience shop 41 แห่งแล้ว ขยายเร็วมาก ร้านค้าจากปีที่แล้ว 1,000 ร้านค้า ปัจจุบันมีอยู่ 9,000 ร้าน ปีนี้ตั้งเป้าขยายให้ได้ 10,000 ร้านค้าทั่วไทย
- การสร้างแบรนด์ มูลค่าแบรนด์สูงขึ้นตลอด อย่างการรับรู้แบรนด์ในไทย ปีที่แล้ว 85% มาปีนี้เติบโตขึ้นเป็น 86%, ความอยากซื้อผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ยในไตรมาส 4 ที่ผ่านมาอยู่ที่ 7% มาตอนนี้กลายเป็น 13% ในปีนี้ กลุ่มพรีเมี่ยมก็แกร่งขึ้น ด้วยตระกูล Mate และ P
- ยกระดับบริการ จากปีที่แล้วมี 4 ศูนย์บริการ ปีนี้ขยายเป็น 14 ศูนย์บริการแล้ว และมีจุดรับเครื่องมากกว่า 1,000 แห่งทั่วไทย และเมื่อต้นปีก็เริ่มมีบริการ door to door service รับเครื่องจากบ้านไปซ่อมเลย มี diamond service ซ่อมเสร็จภายใน 1 ขั่วโมง (ในเงื่อนไข) มีขยายการรับประกันเป็น 2 ปีด้วย
จาก 2015 -> 2016 หัวเว่ยไทยโตขึ้น 3 เท่า ปีนี้จึงตั้งเป้าเหมือนเดิม และตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ของไทยในปีนี้ ซึ่งตอนนี้ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดมาได้ 2 เดือนแล้วในเชิงจำนวนเครื่องที่จำหน่าย
ส่วนภาพในอนาคต หัวเว่ยมองว่าปี 2025 คนจะใช้เรื่อง AI มากขึ้นเป็นฟีเจอร์หลักเลย โดยประกอบพลังจากชิปเซ็ตที่มีพลังมากขึ้น (ซึ่ง Kirin รุ่นใหม่ๆ จะมีความสามารถประมวลผล AI มาด้วย) โทรศัพท์มีเซนเซอร์รอบตัวมากขึ้น และมีคลาวด์ช่วยสนับสนุน
แล้ววิกฤตหน่วยความจำของ Mate 9 และ P10 ส่งผลกระทบแค่ไหน
ประเด็นนี้คุณทศพร และคุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด หัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย) ตอบว่าประเด็นปัญหาเรื่องหน่วยความจำของ Mate 9 และ P10 มีผลกับความเชื่อมั่นของแบรนด์จริง แต่เป็นผลกระทบในระยะสั้น และตอนนี้ยอดขาย และตัวเลขต่างๆ ก็เริ่มกลับมาเข้าเกณฑ์ตามเป้าที่วางไว้แล้ว
โดยผู้บริหารของหัวเว่ยย้ำอีกครั้งว่า Huawei Mate 9 ไม่มีข้อความใดๆ ที่โฆษณาเกินจริงเลย เพราะ Mate 9 ทุกรุ่นผ่านมาตรฐาน UFS 2.1 ส่วน Huawei P10 ไม่เคยโปรโมทว่าเป็นหน่วยความจำชนิดอะไรตั้งแต่แรก และเครื่องที่ขายในไทยทั่งหมดเป็น UFS ด้วย ไม่มี eMMC
อนาคตของสินค้ากลุ่มตลาดล่างที่บอกจะโฟกัสน้อยลง คือกลุ่มไหน
จากข่าวเมื่อเร็วๆ นี้ที่บอกว่า Huawei จะเน้นสมาร์ทโฟนตลาดล่างน้อยลง เพราะรายได้ไม่สามารถพยุงบริษัทให้อยู่รอดอย่างมั่นคงในระยะยาวได้ เรื่องนี้คุณทศพรอธิบายว่าถ้าแบ่งสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยออกเป็น 3 ระดับจะแบ่งได้ดังนี้
- ตระกูล Mate กับ P เป็นกลุ่มพรีเมี่ยม
- GR5 กับ Nova อยู่ในกลุ่มกลาง
- กลุ่มล่างจะเป็นตระกูล Y
โดยมือถือระดับราคา 15,000 บาทขึ้นไป กลุ่มนี้สร้างรายได้ 40% ของหัวเว่ยไทย แต่สำหรับตลาดไทยที่เป็น emerging market จะยังคงทำตลาดสมาร์ทโฟนกลุ่มล่างต่อไป ไม่เปลี่ยนแผนไปไหน เพราะถือว่าหัวเว่ยเป็นไม่กี่แบรนด์ในไทยที่มีผลิตภัณฑ์ครบทุกกลุ่มผู้ใช้
ไทยถือเป็นประเทศที่สำคัญต่อหัวเว่ย โดยจัดไทยเป็นประเทศกลุ่ม Tier 1 เลย ซึ่งจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรมากกว่า ได้รับสินค้าเร็วกว่าด้วย
ซึ่งคุณทศพรได้แย้มว่าตั้งแต่เดือนนี้หัวเว่ยจะเริ่มเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และมีผลิตภัณฑ์ที่น่าจะสร้างสีสันให้ตลาดได้ นอกจาก Huawei Mate รุ่นต่อไป ที่จะวางตลาดในช่วงปลายปีนี้