เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเว็บแบไต๋ได้นำเสนอข่าวการรับสมัครนักเรียน นิสิต นักศึกษา เข้าร่วมกิจกรรม “UHack Thammasat by Enterprise Lab – Hackathon ฟรีเพื่อนิสิตนักศึกษา นักเรียน ทุกสถาบัน” ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา อ่านข่าวเก่าคลิกที่นี่ และขอบอกว่าจะมีกิจกรรมดีๆ แบบนี้จัดขึ้นอีกแน่นอน ติดตามให้ดีและมาอ่านรีวิวงานครั้งก่อนกันนะครับ
กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดย Enterprise Lab ซึ่ง UHack Thammasat เป็นงาน UHack ครั้งแรกที่ได้เอื้ออำนวยสถานที่การจัดงานโดยสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิริธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต โดยในวันงาน มีนักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมงานกว่า 50 คน ผู้ร่วมงานได้แบ่งกันออกเป็น 10 ทีม และสร้างสรรค์ผลงานกันออกมา 10 ผลงาน ภายในเวลาการเขียนโค้ดไม่ถึง 10 ชั่วโมง
หนึ่งในทีมผู้ร่วมงานกำลังปรึกษาหาไอเดียที่จะ hack
Enterprise Lab จัดงาน UHack ขึ้นเพื่อให้เหล่านักเรียนนักศึกษาที่มีความสนใจในการเขียนโปรแกรม ไม่ว่าจะเป็นสายไหน ภาษาอะไร เก่ง เก่งมาก หรือโค้ดไม่เป็นเลยแต่แค่สนใจ ได้มารวมตัวกัน พูดคุยกัน แบ่งปันความรู้ ทดลองไอเดียที่ไม่เคยได้มีเวลาทำสักที พากันเรียนรู้จากการลงมือทำ ภายในบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้มากที่สุด คนที่เก่งอยู่แล้วก็อาจจะได้เห็นมุมมอง หรือได้รับความรู้ในด้านอื่น ๆ จากการแลกเปลี่ยนกัน คนที่ไม่เป็นเลยก็จะได้เริ่มต้น ได้ทดลอง และได้สัมผัสจริง ๆ
ผู้ร่วมงานพูดคุยกันในช่วงก่อนเริ่มงาน
งานเริ่มเปิดลงทะเบียนในตอนเช้าของวันเสาร์ ผู้ร่วมงานที่มาถึงงานและลงทะเบียนกับรับสติ๊กเกอร์และของที่ระลึกจากงานเรียบร้อยแล้วก็เริ่มจับกลุ่มพูดคุยกัน พิธีเปิดเริ่มขึ้นในเวลา 10 นาฬิกา พิธีกรก็ได้กล่าวเปิดงาน แจกแจงรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับงานเช่น ข้าวฟรีน้ำฟรีที่มีเตรียมไว้ให้ ตารางเวลา หัวข้อรางวัลต่าง ๆ และ Hardware ที่มีเอาไว้ให้ยืมไปเล่นกัน นอกจากนี้ หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักของงานในครั้งนี้ 2c2p ก็ได้มากล่าวทักทายบรรดา Hacker ไฟแรงที่มาร่วมงานและกำลังจะเริ่มต้นการ Hack แบบ Marathon กันไปจนถึงช่วงเย็นของวัน
(บน) ทีมงานจากบริษัท 2C2P กำลังจะกล่าวทักทายผู้ร่วมงาน (ล่าง) พิธีกรกำลังพูดถึงงานในช่วงเปิดงาน
ผู้ร่วมงานกำลังสนใจ hardware ที่จัดเตรียมเอาไว้
หลังจากพิธีเปิด นักศึกษาบางกลุ่มที่ได้ทีมกันลงตัวแล้วก็หาจับจองพื้นที่ในการทำงาน บางส่วนก็ยังคงพูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียหากลุ่มกันต่อ บางส่วนก็เดินไปเยี่ยมชม hardware ที่ทาง Enterprise Lab ได้จัดเตรียมไว้ให้ พอทุก ๆ คนเริ่มเข้าที่ ได้กลุ่มได้ที่นั่งกันเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นบรรยากาศของการวางแผนและ brain storm ไอเดีย ซึ่งสตาฟของเราก็คอยเดินช่วยเหลืออย่างเต็มที่ทั้งในส่วนของการวางแผนและการช่วยเหลือเกี่ยวกับการโค้ดดิ้ง บ้างก็ทำเป็น software ล้วน ๆ แต่ก็มีหลาย ๆ ทีมที่วางแผนที่จะใช้ hardware อยู่ในผลงานที่จะทำด้วย ก็ได้มาหยิบยืม hardware ไปลองต่อเข้าคอมพิวเตอร์ที่พกมากันเองและ run Hello world กันดูว่ามันใช้ยังไง โดยมี staff เราคอยช่วยเสียบสาย และให้คำแนะนำอยู่ไม่ห่าง
บรรยากาศช่วง hacking
ช่วงพักเที่ยง
แม้อาหารเที่ยงจะเสิร์ฟแล้ว แต่บางทีมก็ยังคงขมักเขม้นกับการเขียนโค้ด บางทีมที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาก็ถึงกับยกคอมพิวเตอร์ไปนั่งทำกันที่โซนอาหารกันเลยทีเดียว (แต่ไม่ใช่ทีมในรูป :D)
เวลาบ่าย 3 โมง ครึ่งทางของการ marathon hacking เพื่อเป็นการคลายเครียด เปลี่ยนอิริยาบถกันเล็กน้อย เราจึงได้วางกิจกรรม cup stacking เอาไว้ในช่วงเวลานี้ แก้วคนละ 100 ใบ ใครเรียงสูงที่สุดภายในเวลาที่กำหนดก็เป็นผู้ชนะไป ซึ่งเราได้แฝงความหมายของการสร้างผลงานในงาน Hackathon เอาไว้ในกิจกรรมนี้ด้วย เวลาที่จำกัด แก้วที่จำกัด เป้าหมายอันสูงส่ง ทีมใดวางรากฐานไม่ดี วางแก้วไม่กว้างพอ ก็อาจจะพบกับหายนะแก้วถล่มในช่วงก่อนเวลาหมด แต่ทีมใดที่วางแผนผิด วางโครงสร้างใหญ่เกินไป ก็อาจจะต้องมาเสียเวลาแก้โครงสร้างกันใหม่เมื่อพบว่าแก้วไม่พอ ฉะนั้นกิจกรรมของเรานอกจากคลายเครียดแล้ว ก็อาจได้สร้างความเครียดแต่แฝงแง่คิดให้กับเหล่า hacker ก่อนที่จะกลับไป hack ผลงานตัวเองกันต่อในครึ่งทางที่เหลือ
บรรยากาศช่วงกิจกรรม cup stack
กลิ่นพิซซ่า ลอยมาเตะจมูกเหล่า hacker เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงช่วงโค้งสุดท้ายของงาน หลาย ๆ ทืมกำลังช่วยกัน debugging แก้บั๊คโค้งสุดท้าย บางทีมต้องจำใจตัด feature ที่ได้วางแผนไว้แต่ไปไม่ถึง เพื่อจะได้เสร็จให้ทันก่อนช่วงพรีเซนต์
(บน) ตัวส่งกลิ่นบอกเวลา (ล่าง) อารมณ์คน hack เสร็จทันเวลา
และแล้วก็มาถึงช่วงสุดท้ายซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน ช่วงพรีเซนต์ ทุก ๆ กลุ่มมีเวลาเท่ากันที่ 3 นาทีที่จะออกมาแบ่งปันสิ่งที่ตนเองได้สร้างขึ้นมาในวันนี้ บรรยากาศช่วงพรีเซนต์เป็นไปอย่างสนุกสนานและเป็นกันเอง การนำเสนอของทุกทั้ง 10 ทีมต่างก็อัดแน่นไปด้วยเรื่องราว เทคนิค ไอเดีย และความฮา หลังจากที่ทุกกลุ่มได้นำเสนอผลงานของตัวเองกันครบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็เป็นความหนักใจของคณะกรรมการตัดสิน ซึ่งนำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะต้องเลือกทีมที่เหมาะสมที่จะรับรางวัลในหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยหัวข้อจาก Enterprise Lab 3 หัวข้อ Best Hardware Hack, Funniest Hack และ Best Innovation Hack ที่เป็น Grand Prize นอกจากนี้ยังมีหัวข้อ Best E-payment solution ซึ่งเป็นหัวข้อจากธนาคารกสิกรไทยอีกด้วย
(บน) ทีม Osas กำลังทำการพรีเซนต์ (ล่าง) คณะกรรมการตัดสิน
หลังจากการตัดสินเสร็จสิ้นก็เป็นช่วงเวลาการประกาศผู้ที่ชนะในหัวข้อต่าง ๆ และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน เรารู้สึกดีใจและขอบคุณทุก ๆ รอยยิ้มที่ทำให้เราภูมิใจและมั่นใจว่าเราได้ทำให้วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560 เป็นวันที่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งได้มาร่วมกันเรียนรู้ สร้างสรรค์ ต่อยอด ฝึกฝนความรู้ตนเอง เริ่มต้นเรียนรุ้ความรู้ใหม่ ๆ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ความทรงจำ มิตรภาพ และสติ๊กเกอร์ในวันนี้กลับไปเป็นแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเองให้ไปถึงเป้าหมายที่ทุกคนได้ตั้งเอาไว้ และเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
หากสนใจกิจกรรมดีๆ จาก Enterprise Lab รวมถึงกิจกรรมที่จัดโดยพี่ๆ น้องๆ ในทีม Enterprise Lab เข้าไปเยี่ยมชมติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/enterpriselabthailand/ ซึ่งเร็วๆ นี้จะมีกิจกรรมดีๆ อีกแน่นอนครับ