หลายต่อหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ซื้อสินค้าแล้วเจ๊ง หรือใช้งานไม่ได้หลังจากที่ได้ซื้อมา จนท้ายที่สุด จบลงด้วยการฟ้องร้องหรือประท้วง ตามภาพที่เห็นจากข่าวที่ผ่านๆ มา แต่ต่อจากนี้ไปไม่ต้องมีเหตุการณ์ทำนองนี้อีกแล้วครับ เมื่อคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในร่างกฎหมายสคบ. ฉบับใหม่
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจากที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โดยเปิดเผยว่า ทางครม. ได้เห็นชอบในร่าง “พ.ร.บ. ความรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องสินค้า” ซึ่งพ.ร.บ. ฉบับนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นผู้เสนอ โดยจุดมุ่งหมายคือ ให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิในการเรียกร้องถ้าผู้ซื้อได้รับความเดือดร้อนจากสินค้าที่ซื้อไป หากชำรุดหรือบกพร่อง และยังเป็นกฎหมายเพิ่มเติมจากหลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้งานในปัจจุบัน
สาระสำคัญของของการคุ้มครองครั้งนี้ก็คือ สินค้าประเภทรถยนต์ และโทรศัพท์มือถือ รวมไปถึงสินค้าที่มีความซับซ้อน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าดังกล่าวในแต่ละครั้งนั้นตรวจสอบได้ยากว่า สินค้าได้ชำรุดก่อนหน้าหรือหลังจากที่ได้ซื้อไปใช้งาน ทั้งนี้ ยังครอบคลุมไปถึงผู้ที่ซื้อสินค้าในแบบผ่อน หรือเช่าซื้อ สามารถฟ้องร้องได้เหมือนผู้ที่ซื้อสินค้าทั่วไป ซึ่งแต่ก่อน กลุ่มคนกลุ่มนี้ไม่สามารฟ้องร้องได้
รวมไปถึงในกรณีที่ตรวจพบว่าสินค้านั้นชำรุด หรือบกพร่อง ระหว่างที่ผ่อนชำระอยู่นั้น ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ในฐานะผู้ซื้อและเจ้าของกรรมสิทธิ์ ต้องโอนสิทธิทั้งหมดให้กับผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเรียกร้องสิทธิกับผู้ขายได้อย่างโดยตรง หากสินค้าชำรุด และได้เรียกร้องไปแล้ว แต่หลังจากการซ่อมแซมก็ยังชำรุดอยู่ ผู้บริโภคก็มีสิทธิที่จะขอลดราคา หรือยกเลิกสัญญากับผู้ขายได้ และถือเป็นการยกเลิกการเช่าชื้อไปด้วยในตัว
ส่วนการกำหนดความหมายของสินค้าชำรุดบกพร่องนั้น ถ้าสินค้าที่ซื้อมาเกิดการชำรุดหรือเสียหายภายในระยะเวลา 6 เดือน นับจากวันแรกที่ซื้อหรือส่งมอบ ให้ถือว่าสินค้านั้นชำรุดมาตั้งแต่วันที่ส่งมอบ และยังกำหนดสิทธิในกรณีดังกล่าวด้วย เช่น สามารถเรียกร้องให้ผู้ประกอบการซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดได้ 2 ครั้ง หากยังชำรุด สามารถบอกเลิกสัญญา ขอลดราคา เรียกค่าเสียหาย หรือให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าต่างๆ ได้ และยังให้สิทธิแก่ผู้บริโภคในการเลือกที่จะซ่อม หรือเปลี่ยนสินค้า
แต่ถ้าซ่อมแล้วยังไม่ดีขึ้นมาเลย สามารถบอกเลิกสัญญาหรือลดราคา หรือเรียกร้องค่าเสียหายได้ โดยต้องแจ้งให้ให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า 7 วัน และยังมีอายุความถึง 2 ปี
การออกร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นการขยับเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคไปอีกขั้น หลังจากปัญหาดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงกันมานาน ระหว่างผู้เสียหายที่เป็นลูกค้า กับผู้ประกอบการซึ่งเป็นคู่กรณี และผู้ให้บริการหลายรายที่เป็นคู่กรณีในทำนองนี้ ต่างก็ใช้ข้อบกพร่องของกฎหมายที่มีอยู่เดิมเป็นเครื่องต่อรองกับคู่กรณี จนฟ้องร้องและร้องเรียนกันไม่จบไม่สิ้น ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งของร่างพ.ร.บ. จะได้รับการเปิดเผยออกมาแล้ว แต่ยังต้องรอการตรวจสอบในรายละเอียดของส่วนอื่นๆ เพิ่มเติม จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกครั้ง รวมถึงรอการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อใช้งานได้ตามปกติ
และคาดว่าหลังจากนี้ จะไม่มีเหตุการณ์เดินขบวนประท้วง, ทุบรถหน้าโชว์รูม หรือยกโขยงไปเรียกร้องหน้าศูนย์บริการอีกต่อไป…
ที่มา: ข่าวสด