บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด เว็บไซต์หางานชั้นนำของเอเชีย เผยผลสำรวจอัตราการจ่ายโบนัสในประเทศไทย ประจำปี 2560 พบว่าทั้งผู้ประกอบการและผู้หางานให้ความสำคัญกับโบนัสว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรและดึงดูดผู้หางานให้พร้อมร่วมงานกับองค์กร และโบนัสคือแรงจูงใจในการตัดสินใจทำงานในองค์กรใหม่ด้วยเช่นกัน
จากผลสำรวจอัตราโบนัสของพนักงานไทย ประจำปี 2560 ของ จ๊อบส์ ดีบี ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง การจ่ายโบนัส จากสมาชิกของจ๊อบส์ ดีบี ที่ตอบแบบสอบถาม ทั้งผู้หางานจำนวน 2,020 ราย และผู้ประกอบการจำนวน 322 องค์กรทั่วประเทศ จาก 26 สายงาน และกว่า 47 ประเภทธุรกิจ โดยทำการสำรวจเมื่อต้นเดือนธันวาคม พบว่า 46% ของผู้ประกอบการยังคงตระหนักว่าโบนัสเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพที่สามารถวัดผลการตัดสินใจอยู่หรือไปของพนักงาน ขณะที่ 47% ยังเชื่อว่าโบนัสสามารถดึงดูดผู้หางานได้ โดยทั้งผู้ประกอบการ (70%) และพนักงาน (49%) มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า โบนัสที่พิจารณาจ่ายตามผลงาน เป็นตัวชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นผลสัมฤทธิ์ของความพยายามที่พนักงานทุ่มเทให้กับการทำงาน
โดยรูปแบบการให้โบนัสแยกเป็น 2 ประเภทคือแบบการันตี และแบบพิจารณาตามผลงาน
เมื่อพิจารณาการจ่ายโบนัสทั้งสองแบบเป็นรายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจธุรกิจยานยนต์เป็นธุรกิจเดียวที่มีการจ่ายโบนัสสูงสุดทั้งแบบการันตีและพิจารณาตามผลงานเฉลี่ยสูงสุดที่ 2.33 เดือน และ 2.14 เดือนตามลำดับ โดยช่วงเวลาในการจ่ายโบนัสส่วนใหญ่กำหนดการจ่ายโบนัสในช่วงเวลาเดียวกัน คือเดือนธันวาคม (39%) ตามมาด้วยเดือนมกราคม (14%) และเดือนกุมภาพันธ์ (12%) ตามลำดับ
นางนพวรรณ จุลกนิษฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จ๊อบส์ ดีบี มีการทำสำรวจอัตราโบนัสทั่วภูมิภาครวมทั้งประเทศไทยด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้หางานได้ทราบถึงเกณท์การให้โบนัสของธุรกิจเพื่อนำไปกำหนดกลยุทธ์ในการจ่ายโบนัส เพื่อสร้างความพึงพอใจรวมถึงช่วยในการรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว และเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้หางานให้พร้อมร่วมงาน รวมถึงสามารถกำหนดมาตรฐานในการพิจารณาปรับปรุงด้านผลตอบแทนด้วยเช่นกัน เราปฏิเสธไม่ได้ว่าพนักงานรวมถึงคนหางานย่อมให้ความสำคัญกับผลตอบแทนของการทำงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนและโบนัสที่น่าพึงพอใจ โดยยังคงให้ความสำคัญกับงานที่จะสร้างประสบการณ์และท้าทายความสามารถ พบว่า 78% ของพนักงานระบุว่ายินดีลาออกหากได้รับโอกาสงานที่ดีกว่าปัจจุบัน
การสำรวจนี้ยังศึกษาถึงแนวโน้มการใช้จ่ายโบนัส พบว่าทุกเจนเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็น Baby Boomer Gen X และ Gen Y เลือกเก็บโบนัสไว้เป็นเงินออมตามด้วยการนำไปลงทุน ขณะที่ Gen Z เลือกนำโบนัสไปลงทุนเป็นอันดับหนึ่งและเงินออมเป็นอันดับสอง ซึ่งบ่งชี้ว่า Gen Z ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 18-25 ปี มองเห็นความสำคัญของผลตอบแทนการลงทุนที่ก้าวกระโดดมากกว่าการออมอย่างเดียว ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่กำลังเร่งวางรากฐานความมั่นคงทางการเงินให้ตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนและการเก็บออมมากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการติดตามความเคลื่อนไหวของสังคม รวมทั้งข่าวสารด้านเศรษฐกิจ จึงมีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนซึ่งอายุยังน้อย แต่หมั่นหาความรู้ด้านการเงินจากการอัปเดทข่าวสารผ่านช่องทางออนไลน์ และชื่นชอบการบริหารจัดการเงินให้มีผลตอบแทนงอกเงย เพราะมีทัศนคติต่อการสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้เร็วที่สุด อีกทั้งยังเป็นคนที่ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินเพียงอย่างเดียว แต่มองว่าทำงานเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ให้กับชีวิต ได้เพิ่มพูนความรู้ ทักษะและความสามารถให้ตนเองอีกด้วย
สิ่งที่ผู้ประกอบการควรตระหนักคือ นอกจากการจ่ายค่าตอบแทนและโบนัสที่เป็นธรรมแล้ว การให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้พนักงานเติบโตในหน้าที่การงานก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเพื่อรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรและดึงดูดคนหางานที่พร้อมร่วมงานกับองค์กรด้วย สำหรับพนักงานก็ควรหมั่นพัฒนาทักษะ ความรู้ ความสามารถในการทำงาน รวมไปถึงการประเมินศักยภาพของตนเองอยู่เสมอ เพื่อเปิดโอกาสให้กับการเติบโตในสายอาชีพในอนาคต