กรมศุลกากรออกประกาศฉบับใหม่ถึงสองฉบับ ว่าด้วยเรื่องของการตรวจสอบตัวบุคคลและสัมภาระก่อนขึ้นบิน การนำอุปกรณ์ไอที และสินค้าปลอดภาษี (Duty Free) ติดตัว ทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ
โดยประกาศทั้งสองฉบับนี้ ได้เผยแพร่บนเว็บไซต์ของกรมศุลกากร ลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งทั้งสองฉบับที่ประกาศนี้ มีเนื้อหาและใจความสำคัญ ดังต่อไปนี้
ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการปฏิบัติพิธีศุลกากรในการตรวจปล่อยผู้โดยสารและหีบห่อสัมภาระระหว่างสนามบินภายในประเทศ โดยวิธีการ Check Through
ในเที่ยวบินขาเข้า ผู้โดยสาร และ/หรือ สัมภาระที่เดินทางมาด้วย เมื่อถึงสนามบินในประเทศ จะบินตรงหรือต่อเที่ยวไปยังที่อื่น จะต้องผ่านการตรวจสัมภาระ ทั้งสัมภาระที่โหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน และสัมภาระที่พกติดตัว หากสัมภาระนั้นเป็นของที่ต้องเสียอากร หรือต้องกำจัด หรือไม่แน่ใจว่าอยู่ในประเภทไหน ต้องเข้ารับการตรวจที่ช่องแดง (ป้ายกำกับจะเขียนว่า “มีของต้องสำแดง”) แต่ถ้าไม่มีของที่กล่าวมาข้างต้นติดตัวมาด้วยแล้ว สามารถเดินผ่านช่องเขียว หรือช่อง “ไม่มีของต้องสำแดง” ได้เลย
ประกาศ เรื่อง การปฏิบัติพิธีการศุลกากรของติดตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรพร้อมกับตนทางอากาศยาน
การปฏิบัติจะคล้ายกับประกาศการปฏิบัติพิธีศุลกากร โดยวิธีการ Check Through แต่จะเพิ่มขึ้นตอนการตรวจสอบสัมภาระที่นำติดตัว ในวันที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ถ้าสัมภาระที่นำมามีมูลค่าน้อยกว่า 200,000 บาท หรือมีมูลค่ามากกว่า 200,000 บาท แต่นำมาแค่ชิ้นเดียว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรประจำสนามบินพิจารณา ซึ่งพนักงานศุลกากรสามารถจัดเก็บอากรขาเข้า เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต หรือภาษีอื่นๆ (ถ้ามี) โดยสามารถชำระได้ทั้งเงินสด บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ซึ่งถ้าชำระด้วยบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต จะต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราที่แต่ละธนาคารได้กำหนดไว้
ถ้าของชิ้นนั้น เป็นของใช้ส่วนตัว และนำติดตัวมาตั้งแต่ต้นทาง มีมูลค่าไม่ถึง 20,000 บาท ไม่ต้องชำระอากร หากสัมภาระที่นำมาจัดอยู่ในประเภทยาสูบและสุรา ถ้านำมาไม่เกินอัตราที่ทางศุลกรกากำหนดไว้ ไม่ต้องชำระอากร แต่ถ้าเกินจำนวนที่กำหนดไว้ จะต้องนำสัมภาระชิ้นดังกล่าวไปใส่ในกล่อง Drop Box ที่ทางศุลกากรได้เตรียมไว้ ที่บริเวณช่อง “มีของต้องสำแดง” และช่อง “ไม่มีของต้องสำแดง”
สำหรับอุปกรณ์ไอที เช่น แล็ปท็อป, กล้องถ่ายภาพ, กล้องถ่ายวิดีโอ จะต้องแจ้งต่อศุลกากรในสนามบิน โดยนำภาพถ่ายของอุปกรณ์ดังกล่าว 2 ชุด และเลข Serial Number ของแต่ละอุปกรณ์
แน่นอนว่าเมื่อมีประกาศออกมาในทำนองนี้ ผู้คนในโลกโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเดี๋ยวก็ช้ากว่าเดิม บ้างก็ว่ากลัวศุลกากรว่างงานหรืออย่างไรกัน บ้างก็เหน็บแนมไปว่า นี่หรือ 4.0 ที่เขานิยามกัน
มาฟังอธิบดีกรมศุลกากรเคลียร์เรื่องนี้ชัดๆ
ล่าสุด อธิบดีกรมศุลกากร นายกุลิศ สมบัติศิริ ได้ออกมาให้ข้อมูลกับทางเดลินิวส์ ว่า ประกาศที่ออกมานี้ ไม่ใช่ประกาศฉบับใหม่ แต่เป็นประกาศฉบับเดิมที่เคยประกาศใช้ไปแล้ว นำกลับมาใช้งานใหม่อีกครั้ง เนื่องจากมีการปฏิรูปกฎหมายศุลกากร โดยใช้พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาประกาศใช้ จึงทำให้ประกาศที่ใช้ในปัจจุบันเป็นอันต้องเลิกไป ซึ่งในเรื่องบางเรื่องที่มีประกาศในฉบับนี้ เดิมทีมีการบังคับใช้อยู่เมื่อนานมาแล้ว
ในส่วนของการแจ้งข้อมูลต่อศุลกากร ในการนำอุปกรณ์ไอทีออกนอกประเทศนั้น อธิบดีได้กล่าวอีกว่า วิธีนี้ เป็นวิธีที่ทางกรมศุลกากรได้อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร เพื่อที่เดินทางกลับมาแล้ว จะได้ไม่ต้องเข้ารับการตรวจซ้ำอีกครั้ง และเป็นการยืนยันว่าสัมภาระในส่วนนี้เป็นของตนเอง หากถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรสุ่มตรวจ จะได้มีหลักฐานในการยืนยันความเป็นเจ้าของ ซึ่งแน่นอนว่าขั้นตอนดังกล่าวนี้ ผู้โดยสารสามารถเลือกได้ว่าจะแจ้งหรือไม่แจ้ง
ซึ่งเมื่อพูดถึงขั้นตอนของการนำอุปกรณ์ไอทีออกนอกประเทศ และต้องแจ้งทางศุลกากร เพจสำนักป้ายยา ได้อธิบายขั้นตอนของการกรอกใบแจ้งของมีค่าที่ผู้โดยสารนำติดตัวไป
การออกประกาศในครั้งนี้ มีผลต่อตัวของผู้โดยสารอย่างเราๆ แน่นอน นอกจากจะต้องปฏิบัติตามประกาศทั้งสองฉบับที่ว่ามาแล้วนั้น ยังต้องเตรียมตัว เตรียมเวลา ก่อนเดินทางเพิ่มอีกด้วย เพราะไม่แน่นอนว่า ที่หน้าด่านตรวจของศุลกากรนั้น จะมีผู้โดยสารที่เข้าแถวต่อคิวกันจำนวนเท่าไหร่
ที่มา: กรมศุลกากร, ผู้จัดการออนไลน์, เดลินิวส์, เฟซบุ๊กเพจสำนักป้ายยา