อีกก้าวที่สำคัญในปี 2018 ของ TARAD.com หลังจากที่ คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ซื้อ TARAD.com คืนมาจาก Rakuten ทั้งหมดในช่วงปี 2016 ตอนนี้อนาคตของตลาด.คอมก็เริ่มชัดเจนขึ้น เมื่อประกาศความร่วมมือกับบริษัท T$pace Digital ในเครือ TCC เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2018 โดย T$pace Digital ซื้อหุ้น 51% ของ Tarad.com โดยคุณภาวุธจะเหลือสัดส่วนหุ้น 49% แต่ยังคงรับหน้าที่บริหารกลุ่ม Tarad.com ต่อไป พร้อมประกาศเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของกลุ่มตลาด.คอมใหม่ เน้นที่แนวคิด U-Commerce

 

ยุทธศาสตร์ใหม่ของ Tarad.com ไม่เน้น Marketplace แล้ว

คุณภาวุธได้เปิดเผยยุทธศาสตร์ใหม่ของกลุ่มตลาด.คอม ที่ไม่เน้น E-Marketplace อย่างเดิมแล้ว เพราะไม่สามารถเอาเงินลงทุนไปเผาทิ้ง ทำโปรโมชั่นแข่งขันในตลาดแบบยักษ์ใหญ่ได้ แต่ที่ผ่านมาคุณภาวุธได้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ E-commerce อื่นๆ เพื่อสร้างระบบนิเวศของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ครบวงจรในไทย แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือ

  1. E-commerce (Channel) ที่จะทำในแนวคิดใหม่เรียกว่า U-Commerce หรือ Universal Commerce
  2. E-Marketplace (Customer) คือเว็บ Tarad.com และ ThaiSecondHand.com เดิม แต่ไม่เน้นเป็นแกนธุรกิจเหมือนเดิมแล้ว
  3. E-Marketing (Advertising) กลุ่มโฆษณา มีผลิตภัณฑ์อย่าง Tarad Ads บริษัท Winter Egency และบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Thoth Zocial
  4. E-Payment (Transaction) คือบริษัท Pay Solutions ที่เป็นช่องทางรับชำระเงินครบวงจร
  5. E-Logistic & Warehouse คือกลุ่มที่เกี่ยวกับการขนส่งสินค้า คือบริการ Shippop และบริการ Siam Outlet ที่เป็นโกดังสินค้าด้วย
  6. E-Knowledge กลุ่มให้ความรู้เรื่องธุรกิจยุคใหม่ E-commerce Business School (EBS)

ประเด็นที่น่าสนใจใน 6 กลุ่มธุรกิจนี้คือ U-Commerce แนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่ที่เปลี่ยนคู่แข่งเดิมให้กลายเป็นพาร์ทเนอร์

U-Commerce เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพาร์ทเนอร์

แนวคิด U-Commerce หรือ Universal Commerce คือการผสานธุรกิจทั้งหมดในเครือ Tarad.com เพื่อให้บริการลูกค้า ที่ไม่จำกัดเฉพาะช่องทางของ Tarad.com เอง แต่ผู้ค้าสามารถขายบนช่องทางอย่าง Shopee หรือ 11Street (ตอนนี้กำลังเจรจากับ 2 รายนี้เพื่อเชื่อมโยงระบบ ส่วน Lazada จะเป็นเฟสต่อไป) หรือจะเปิดหน้าเว็บของตัวเอง หรือแค่ขายบนโซเซียลก็ได้ แล้วใช้ระบบหลังบ้านของกลุ่ม Tarad.com ช่วยจัดการ เช่น ระบบรับชำระเงิน ระบบจัดการคลังสินค้า ระบบขนส่ง เพื่อให้ผู้ค้าสามารถจัดการธุรกิจของตัวเองได้มากขึ้น

U-Commerce  ถือเป็นการเปลี่ยนแกนธุรกิจของกลุ่มตลาด.คอม ที่เปลี่ยนการโฟกัสจาก E-Marketplace ที่แข่งขันกันรุนแรงมาก มาสู่ช่องว่างในตลาดที่ผู้ค้าต้องการระบบเชื่อมโยงหน้าร้านต่างๆ เข้าด้วยกัน ซึ่ง U-Commerce จะให้บริการฟรี แต่จะมีการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับบริการเสริมต่างๆ ที่ผู้ค้าต้องการ

เรื่องราวของดีล T$pace x Tarad.com

T$pace Digital เป็นบริษัทใหม่ในเครือของ TCC Group ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนในธุรกิจกลุ่มใหม่ที่น่าจะเติบโตได้ในอนาคต โดยตอนนี้เน้นลงทุนกับบริษัทดิจิตอลของไทยก่อน ซึ่งการลงทุนในกิจการของ Tarad.com จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งของกลุ่ม TCC ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและเปลี่ยนข้อมูลเป็นเงินให้กับบริษัทของกลุ่ม TCC ในอนาคต ซึ่งไม่มีการเปิดเผยมูลค่าของหุ้นที่ซื้อในครั้งนี้ แต่ T$pace Digital ก็เปิดเผยว่าหนี้ของกลุ่ม Tarad.com ก็รวมอยู่ในการซื้อขายครั้งนี้ด้วย

TARAD.com เองได้ย้ายทีมงานกว่า 70 คนจากสำนักงานตึกตรงรัชดาภิเษก 28 มาที่ตึก CyberWorld ในกลุ่มของ TCC ในต้นปี 2018 และเริ่มสร้างความร่วมมือในหลาย ๆ โครงการในกลุ่ม ThaiBev, Oishi และบริษัทอื่น ๆ ภายในเครือ

โดย TCC Group หรือกลุ่มไทยเจริญคอร์ปอเรชั่นเป็นกลุ่มบริษัทของเจริญ สิริวัฒนภักดี ซึ่งมีบริษัทชั้นนำของไทยอยู่ในเครือมากมาย เช่น ThaiBev, Osihi, BigC, BJC, เสริมสุข, กลุ่มอมรินทร์ รวมถึงเป็นเจ้าของอาคารมากมายอย่าง ห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า, เกตเวย๋, เอ็มไพร์ ทาวเวอร์, เอเชียทีค

คุณป้อม ภาวุธ มีโอกาสได้พบกับ คุณมารุต บูรณะเศรษฐกุล ผู้บริหารของโออิชิ (ในสมัยนั้น) และคุณมารุตก็ได้พาคุณป้อมเข้าพบกับ คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี หรือ คุณหนุ่ม ผู้บริหารใหญ่ของเครือ ThaiBev  คุณป้อมได้มีโอกาสอธิบายถึงความล่มสลายของ ธุรกิจ E-Commerce ของไทย และการที่ธุรกิจในประเทศไทยหยุดเติบโตเนื่องจากการเข้ามาของบริษัทจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน คุณหนุ่มสนใจที่จะสนับสนุนคนไทย ธุรกิจไทย และในที่สุดจึงได้เริ่มต้นความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุน โดยได้ลงนาม ตกลงการร่วมธุรกิจกันใน วันที่ 25 พค. 2017 ที่ โรงแรมโอกุระ Park Venture กับ คุณหนุ่ม ฐาปน สิริวัฒนภักดี

เหตุเพราะธุรกิจของ TARAD ในขณะนั้นขาดทุนสะสม และยังมีเงินขาดทุนต่อเดือน ทำให้หลังจากที่ซื้อคืนมานั้น คุณป้อม ภาวุธ ต้องนำเงินของตัวเองใส่เข้าไปเพื่อหล่อเลี้ยงให้บริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตลอดปี 2016-2017 จนคนรอบ ๆ ตัวต่างกังวลว่าซื้อกลับมาทำไม? และ จะเดินต่อไปยังไง?

คุณป้อม ภาวุธ เผยสาเหตุที่ซื้อ TARAD.com กลับมาว่า “เพราะลูกค้าที่ผมสร้าง และดูแลมาตลอด 10 กว่าปี หลาย ๆ ท่านผมรู้จักมานาน และลูกน้องผมในบริษัทอีกมากมาย รวมไปถึงแบรนด์ของ TARAD.com ที่ผมสร้างขึ้นมาตลอดสิบกว่าปี หากผมยอมให้ญี่ปุ่นปิด นั่นหมายถึงทุกอย่างจะจบสิ้นลงไปทันที ทุกอย่าที่ผมสร้างมารวมไปถึงธุรกิจของลูกค้าผมหลาย ๆ คนที่เปิดอยู่กับ TARAD.com ด้วย เพราะหลังจากที่ญี่ปุ่นซื้อไปหมด 100% เค้าก็ตัดสินใจที่จะปิด TARAD.com ลงด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นในตลาด E-Commerce ในอาเซียน ดังนั้นด้วยเหตุผลทั้งหมดจึงทำให้ผมตัดสินใจซื้อ TARAD.com กลับคืนมา”

สิ่งที่ คุณป้อม ภาวุธ คิดเป็นอย่างแรกเมื่อซื้อ TARAD.com กลับคืนมาคือ…จะมีหลาย ๆ บริษัทอยากเข้ามาลงทุนใน TARAD.com ต่อจาก Rakuten เพราะด้วยตอนนั้น TARAD.com ยังเติบโตและเป็น Top 3 E-Commerce ของไทย โดยหลังจากที่ซื้อกลับมา คุณป้อมประกาศหยุดการทำ Marketing ทุกอย่าง หยุดการใช้เงินในบริษัท ไม่เพิ่มคนเพื่อลดการขาดทุนของบริษัท และตัวคุณป้อมเองก็เดินหน้าหานักลงทุนใหม่ตลอดปี 2016 , เริ่มคิดโมเดลทางธุรกิจที่หลากหลายเพื่อที่จะหลบออกจาก Marketplace ที่ต้องไปชนกับยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba และเจ้าอื่น ๆ ด้วยการจะแยกตัวออกมาเป็นบริษัท Startup เล็ก ๆ แล้วหานักลงทุนมาลงทุน หรือ ติดต่อกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่สนใจจะลงทุนใน E-Commerce แต่เพราะการมาของ Alibaba ที่เข้าซื้อ Lazada นั่นทำให้นักลงทุนต่างพากันปฏิเสธการเข้าลงทุนใน TARAD.com และยิ่งนานวันเข้า จำนวนเงินที่คุณป้อมใส่เข้าไปเพื่อหล่อเลี้ยงบริษัทให้อยู่รอดก็เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นช่วงที่เครียดและท้อมาก เพราะตอนนั้นคุณป้อมเองก็ยังนึกไม่ออกว่าจะพาบริษัทไปทางไหนดี!!

อ้างอิง: บล็อกของคุณภาวุธ