เป็นที่น่าจับตากันตลอดทั้งวัน กับการเปิดยื่นเจตจำนงค์ในการเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ทางกสทช. ได้จัดขึ้นอีกครั้ง ที่บอกว่าน่าจับตามองก็เพราะว่า ผู้ให้บริการทั้งสามค่าย อย่าง เอไอเอส, ดีแทค และทรูมูฟ จะส่งตัวแทนเข้ารับระเบียบการที่สำนักงานกสทช. หรือไม่
ล่าสุด เป็นที่ชัดเจนว่าทั้งสามค่าย ต่างมีมติไปในทิศทางเดียวกัน คือการ “ไม่ร่วมประมูล” ในครั้งนี้ สำหรับเรื่องนี้ มีการชี้แจงออกมาจากเลขาธิการกสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ที่ตั้งโต๊ะแถลงข่าวอย่างด่วนเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า เนื่องจากไม่มีรายใดเข้ายื่นเอกสารเพื่อขอเข้าร่วมประมูล ทางกสทช. จึงต้องยกเลิกกำหนดการประมูลคลื่นความถี่ ที่กำหนดไว้ว่าวันที่ 4 สิงหาคม 2561 ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด หลังจากนี้ ทางกสทช. จะรวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้น และเสนอเข้าที่ประชุมของบอร์ดบริหารในวันที่ 27 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ และจะนำเรื่องทั้งหมดรายงานต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
เลขาธิการได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การจัดประมูลในครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นก่อนที่สัญญาสัมปทานคลื่น 1800MHz เดิม จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายนปีนี้ (ซึ่งดีแทค และแคท เป็นผู้ถือคลื่นความถี่ดังกล่าวในระบบสัมปทาน โดยดีแทคถือไว้ที่ 25MHz และแคทถือไว้ที่ 20MHz) แต่ทว่า เอกชนต่างไม่ให้ความสนใจในการร่วมประมูลครั้งที่จะจัดขึ้น
ในส่วนของมาตรการเยียวยาผู้ใช้งานในคลื่นความถี่ดังกล่าวนั้น เลขาธิการกสทช. ได้กล่าวอีกว่า เนื่องจากการประมูลที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ เป็นการจัดขึ้นล่วงหน้า ก่อนที่จะหมดสัมปทาน และไม่มีผู้ใดที่สนใจเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ ตามหลักการของมาตรการการเยียวยาที่ออกมาเมื่อปี 2556 นั้น การเยียวยาจะต้องเกิดขึ้นในกรณีที่กสทช. ไม่สามารถจัดการประมูลได้ทัน แต่กับกรณีที่เกิดขึ้นในวันนี้ ทางกสทช. ต้องแจ้งว่า ไม่สามารถออกมาตรการเยียวยาได้ และต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าวลง
ทั้งนี้ ทางกสทช. มองว่า อยากให้มีการจัดประมูลครั้งดังกล่าวขึ้น เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน
เปิดเหตุผลทั้งสามค่าย ไฉนถึงไม่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้…???
จริงๆ แล้ว หากย้อนกลับไปไม่กี่วันก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ทำหนังสือแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ไม่เข้าร่วมการประมูลในครั้งนี้
รวมไปถึงในช่วงบ่ายที่ผ่านมา ทั้งสองค่ายที่เหลือ อย่างดีแทค และเอไอเอส ได้ออกมาแถลงว่าไม่ขอเข้าร่วมในการประมูลครั้งนี้ โดยทางดีแทคได้ให้เหตุผลว่า ราคาประมูลตั้งต้นที่สูงเกินไป (เริ่มต้นเคาะประมูลที่ราคา 37,457 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายจากการประมูลเมื่อปี 2558), การแบ่งล็อตที่ไม่เป็นไปตามที่เสนอ (กสทช. แบ่งล็อตละ 15MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต แต่ดีแทคเสนอแบ่งล็อตละ 5MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต), ทางค่ายได้มองว่า ในตอนนี้มีคลื่นความถี่ 2100MHz และ 2300MHz ที่ได้จากทีโอที ถือว่าเพียงพอแล้ว และทางค่ายมีความต้องการในคลื่นความถี่ต่ำ อย่างคลื่น 850MHz กับคลื่น 900MHz มากกว่า เพื่อให้บริการได้อย่างครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ
ทางด้านเอไอเอสได้ให้เหตุผลผ่านแถลงการณ์ว่า เมื่อพิจารณาแล้ว หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประมูลครั้งนี้ ไม่เหมาะสมต่อการลงทุน แต่ถึงกระนั้น ก็ยังติดตามสถานการณ์และเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลในครั้งนี้ต่อไป
ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตากันอย่างต่อเนื่อง สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ต้องใช้คำว่า “เป็นหมัน” ไปเสียแล้ว ทั้งสามค่ายต่างให้เหตุผลในการไม่ขอเข้าร่วมประมูลที่สอดคล้องกัน และเหมือนเป็นการชี้จุดบกพร่องที่ทางกสทช. สร้างขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ต้องรอดูว่าหลังจากนี้ การประชุมบอร์ดกสทช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน ผลจะออกมาเป็นเช่นไร การประมูลคลื่นในครั้งนี้จะได้จัดหรือไม่ มีเพียงกสทช. เท่านั้น ที่สามารถให้คำตอบกับประชาชนผู้ใช้งาน…
ที่มา: ไทยรัฐ, โพสต์ทูเดย์, มติชน, พีพีทีวี