จากประเด็นที่รถไฟฟ้า BTS มีปัญหาหลายวันติดกัน และหลายช่วงเวลา (วันที่เขียนก็ 3 วันติดเข้าไปแล้ว จนกระทั่งมีการคาดว่า เป็นเพราะ “DTAC” ปล่อย “dtac turbo” บนคลื่น 2300 และอีกสาเหตุหนึ่งคาดว่ามาจากการรบกวนจากคลื่น Wi-Fi บนย่านความถี่ 2.4G วันนี้ทางแบไต๋จะมาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน
อัพเดต! คุณหนุ่ยสรุปประเด็นนี้ พร้อมข้อมูลเพิ่มเติมจาก กสทช. ไม่เกี่ยวกับคลื่น 2300 ของ DTAC แน่นอน
คลื่นความถี่ 2.4G กับ 5G คืออะไร?
คลื่นความถี่ 2.4G และ 5G ถือว่าเป็นย่านความถี่เสรีสากล ใครๆ ก็สามารถใช้งานได้ ซึ่งทุกประเทศยึดหลักการเดียวกัน ทำให้ถูกใช้งานได้ทั่วไปทั้งตามบ้านและหน่วยงานบนอุปกรณ์หลายชนิด เช่น Wi-Fi, เตาไมโครเวฟ, เมาส์ คีย์บอร์ด จอยเกมแบบไร้สาย, โทรศัพท์บ้านและอินเตอร์คอมแบบไร้สาย, โดรน, อุปกรณ์บังคับไร้สาย
โดยคลื่น 2.4G นั้นถูกใช้มานานแล้ว ปัจจุบันคลื่น 2.4G ถูกใช้งานเยอะมาก อุปกรณ์ไอทีและอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ๆ จึงขยับไปใช้คลื่นเสรีอีกคลื่นที่ปัจจุบันคนยังใช้งานน้อย นั่นก็คือคลื่น 5G นั่นเอง (5G ที่ว่านี้ย่อมาจาก 5 GHz คนละแบบกับ 5G ที่เป็นเทคโนโลยีการรับ-ส่งข้อมูลบนมือถือ ในอนาคตที่เป็นขั้นสูงกว่า 3G 4G ในปัจจุบัน)
และ DTAC มาเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้ เป็นตัวการจริงเหรอ?
หลังจากที่ DTAC เพึ่งเปิดตัวการร่วมมือใช้คลื่น 2300 จาก TOT ก็ได้ตกเป็นจำเลยในกรณีนี้ ว่ามีส่วนทำให้เกิดปัญหารถไฟฟ้า BTS ไม่สามารถทำงานได้ แต่สุดท้ายทาง DTAC ก็ได้ทดสอบปิดการปล่อยสัญญาณบนคลื่นดังกล่าว (หรือที่เรียกตามชื่อการค้าว่า “dtac turbo”) แต่ทาง DTAC ก็ให้ความร่วมมือ และทดลองปิดการใช้คลื่นดังกล่าวบนย่าน 2300 จำนวนกว่า 20 สถานีฐานตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่ช่วงเวลา 06.00 น. อีกทั้งให้ข้อมูลว่า การใช้งานคลื่น 2300 MHz ไม่ได้ส่งคลื่นใดๆ ออกมานอกเหนือจากแบนด์ที่ให้บริการ และคลื่นที่ dtac, TOT ใช้นั้นห่างจากคลื่นที่ BTS ใช้ 30 MHz ทำให้ไม่มีโอกาสตีกัน (dtac กับ TOT ใช้ช่องความถี่ 2310-2370) และ BTS ไม่ได้เนียนใช้คลื่นนี้แต่อย่างใด
สุดท้ายไม่เกี่ยวกับ DTAC แต่เป็นเพราะ BTS ใช้คลื่นเสรี 2.4G?
หลังจากที่ทางปิดสัญญาณก็ยังเกิดเหตุการณ์ BTS ขัดข้องอีก แม้ว่าได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเวลา 07.18 น. ระบบอาณัติสัญญาณในสายสีลมขัดข้องอีกครั้ง
นายนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. ได้รายงานกับ ThaiPBS ว่าพบคลื่นรบกวนนั่นคือ สัญญาณ Wi-Fi บนย่าน 2.4 G หริอ 2400 MHz เพราะเป็นคลื่นที่อนุญาตและจัดสรรไว้สำหรับให้ใช้แบบสาธารณะ อาจเป็นไปได้ที่จะรบกวนกันเพราะ BTS ก็ใช้คลื่นนี้ แต่อย่างไรก็ตามยังกล่าวเพิ่มเติมว่า รัศมีการทะลุทะลวงของคลื่นนี้ถ้าเป็นห้องก็ทะลุได้ 2 ห้อง แต่กำแพงห้องที่ 3 นี่ทะลุไม่ได้แล้ว
ยกเว้นมีการทวนสัญญาณ ใช้เสาขยายสัญญาณออกมาภายนอกอาคาร และมีการใช้เยอะขึ้นรวมกันออกมาภายนอกอาคาร ซึ่งพวก Wi-Fi สาธารณะนอกอาคาร (เช่น AIS Wifi, dtac Wifi, True Wifi) หรือ Hotspot มือถือ, Pocket Wi-Fi ก็ใช้งานคลื่นนี้เป็นส่วนใหญ่ รวมถึงนอกจาก Wi-Fi ก็มีหลายอย่างที่ใช้คลื่นนี้ภายนอกอาคารด้วย
การแก้ปัญหาดังกล่าว คือขอเปลี่ยนย่านความถี่ ไปใช้ย่านอื่นที่ไม่ใช่ 2400 MHz ปัจจุบัน กสทช. กันคลื่นย่าน 800 – 900 MHz (คนละแบนด์กับคลื่นมือถือในย่านดังกล่าวด้วย) ไว้ให้ใช้สำหรับการควบคุมรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่กำลังจะก่อสร้างอยู่แล้ว BTS สามารถประสานมาขอใช้คลื่นนี่ได้ หรืออาจจะไปใช้เครือข่าย GSM-R ซึ่งนิยมควบคุมระบบรถไฟความเร็วสูงในหลายประเทศ
ระบบคลื่นอาณัติสัญญาณของ BTS คืออะไร?
BTS ใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัท Bombardier ซึ่งเป็นระบบอาณัติสัญญาณแบบ Communication Based Train Control หรือ CBTC โดยใช้สัญญาณ 2.4 GHz สำหรับสื่อสารกันระหว่างขบวนและระบบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการให้บริการ
แบนด์ของคลื่นความถี่คืออะไร?
แบนด์คือช่วงของช่องความถี่สัญญาณ อย่างเช่นที่ DTAC และ TOT ใช้อยู่บนคลื่น 2300 MHz นั้นจะอยู่ในช่วงแบนด์ 2310-2370 MHz* ไม่มีการส่งสัญญาณเกินในช่วงนี้ ส่วนรถไฟฟ้า BTS จะอยู่ในแบนด์คลื่น 2400 (ในช่วง 2400.1 GHz)
ส่วนใครที่เคยตั้งค่าช่องสัญญาณของ Wi-Fi คงจะรู้จักช่อง Channel ต่างๆ (ดังภาพข้างบน) อันนั้นก็เป็นการระบุว่า แต่ละ Channel ส่งอยู่ในช่วงแบนด์ไหนของ 2400 MHz (2.4 G) หรือ 5G
อาจารย์วิศวฯ จุฬาฯ วิเคราะห์สาเหต
ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สาเหตุของกรณีนี้
*อัพเดตข้อมูลจากกสทช. ที่ขอแถลงแก้ไขข้อมูลนี้ได้จากคลิปที่คุณหนุ่ยรายงาน ได้จากต้นบทความ
สรุปได้ว่า
- ประเทศไทย ไม่เคยสงวนความถี่ไว้สำหรับการสื่อสารของรถไฟฟ้ามาก่อน พอดีกสทช. ก็มีแค่กำหนดร่างไว้ ซึ่งเอาไว้ แต่รถไฟฟ้าความเร็วสูง ไทย-จีน (แต่ถ้าอิงจากแหล่งข่าวก่อนหน้านี้ กสทช.ได้กล่าวว่า ได้กันคลื่นย่าน 800- 900 MHz เพื่อรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่ง BTS สามารถมายื่นขอใช้ได้ด้วย)
- ในยุโรป มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง Uplink: 876–880 MHz Downlink: 921–925 MHz
- ในจีน มีการสงวนช่องสัญญาณความถี่ไว้เพื่อการขนส่งทางราง Uplink: 885–889 MHz Downlink: 930–934 MHz
- กสทช. ได้อนุมัติให้ใช้งานคลื่นความถี่ 800/900 MHz และ 400 MHz สำหรับระบบคมนาคมขนส่งทางราง โดยมีเงื่อนไขจะต้องมีการใช้งานคลื่นความถี่ดังกล่าวภายในไม่เกินปี พ.ศ. 2563
- ตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2561 dtac ร่วมมือกับ TOT ได้เปิดให้บริการบนคลื่น 2300 ซึ่งเมื่อดูแบนด์แล้วอาจมีความใกล้เคียงกับ 2400 ที่ BTS ใช้ ส่วน Wi-Fi มีการใช้บน 2400 (2.4) หลายย่านแบนด์ ตามที่เปิดให้ใช้อย่างเสรี ซึ่งทุกวันนี้มีการใช้งานมากขึ้น
แต่มีหลายคนสงสัยว่าเมื่อก่อนไม่ขัดข้องถี่ๆ หรือเป็นทั้งวัน และติดกันหลายวันแบบนี้ ทำไมถึงมีปัญหาทั้งที่ก่อนหน้านี้ Wi-Fi 2.4 ก็มีการใช้งานมานาน
อาจเป็นเพราะพอ dtac เปิดคลื่น 2300 ทำให้เกิดการรบกวนจากทั้ง 2 ย่าน (แต่ว่าทาง dtac ได้ทดสอบปิดสัญญาณคลื่นดังกล่าวตามแนวรถไฟฟ้าก็ยังเกิดปัญหา)
การแก้เบื้องต้นของ BTS
ทาง BTS ได้กล่าวว่าจะจัดซื้ออุปกรณ์ป้องกันการรบกวนโดยคาดว่าจะดำเนินการติดตั้งเสร็จได้ในเดือนตุลาคมนี้ และมีแผนจะย้ายไปใช้ช่องสัญญาณปลายๆ ของคลื่น 2400 MHz ที่ยังถือว่ามีคนใช้น้อย
ประสบการณ์การกวนกันของคลื่น 2.4 GHz ที่ผู้เขียนเจอ
ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์กวนกันของคลื่น 2.4 GHz (2400 MHz) ก่อนที่ dtac และ TOT จะมาปล่อยสัญญาณบนคลื่น 2300 ด้วย
- เมาส์ไร้สาย หลายรุ่นใช้คลื่น 2.4 GHz เมื่อนำไปใช้ในบางอาคารสำนักงานหรือห้างสรรพสินค้าพบว่า ทำให้มีปัญหากับการใช้งาน และอีกกรณี ในบางพื้นที่ใช้งานได้ปกติ แต่หากปล่อย Hotspot จากมือถือ จะทำให้เกิดการหลุดจากการเชื่อมต่อบ่อยๆ ของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับ Hotspot ที่ปล่อย
- แต่เมื่อปีก่อนๆ สถานที่เหล่านี้กลับไม่เกิดปัญหาหรือเกิดไม่บ่อยเท่าทุกวันนี้
- แต่เมื่อนำเมาส์ดังกล่าวมาใช้ที่บ้าน ซึ่งมีเมาส์ไร้สาย 2.4 ตัวอื่นอีก 2 ตัวใช้งานพร้อมกัน มีโทรศัพท์บ้านไร้สาย 2.4 วางอยู่ข้าง Router ด้วย แต่ที่ Router ปล่อย Wi-Fi 2.4 ที่ Channel 11 กลับพบว่าทั้งตัวเมาส์และอุปกรณ์อื่นๆ กลับใช้งานได้ปกติ
จากเหตุการณ์นี้ก็จะแสดงให้เห็นได้ว่าในที่สาธารณะหรืออาคารต่างๆ หลายๆ ที่มีการใช้คลื่น 2.4 กันเยอะขึ้นทำให้มีการทับช่วงแบนด์สัญญาณ (Channel)
กสทช. เชิญ DTAC TOT BTS คุย / เช้าวันนี้ขัดข้องอีกแล้ว
ในวันนี้ (วันที่เขียนบทความ) กสทช. เชิญ DTAC, TOT, BTS คุยประเด็นนี้ ในเวลา 10.30 น. ได้ข้อสรุปว่า
“แนะนำให้ BTS ย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 – 2495 MHz”
ในขณะที่เช้าวันนี้ก็เกิดเหตุ BTS ขัดข้องอีกแล้ว ตั้งแต่เวลา 09.50 น.
09.50 เนื่องจากระบบอาณัติสัญญาณในสายสุขุมวิท และสายสีลมยังคงขัดข้อง กำลังดำเนินการแก้ไข ส่งผลให้ขบวนรถเคลื่อนที่เข้า-ออกที่สถานีสยามด้วยความเร็วต่ำ และมีขบวนรถจอดที่บางสถานีนาน ทำให้การเดินทางถึงสถานีปลายทางล่าช้าประมาณ 30 นาที โปรดเผื่อเวลาการเดินทาง ขออภัยในความไม่สะดวก
— BTS SkyTrain (@BTS_SkyTrain) June 27, 2018
ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสงสัยเพิ่ม
มีผู้เชี่ยวชาญที่เป็นสมาชิกกลุ่ม TelecomLover ที่คุยเรื่องคลื่นความถี่การสื่อสาร ก็ได้ตั้งข้อสงสัยว่า อาจเป็นเพราะอุปกรณ์ของ BTS มีอายุการใช้งานมานาน ระบบป้องกันคลื่นรบกวนที่คาดว่ามีอยู่แล้วอาจเสื่อม เลยมาเป็นบ่อยช่วงนี้ และที่มักเป็นในช่วงเวลาที่คนแน่นๆ คงเพราะมีการใช้มือถือกันเยอะ แล้วทำให้การรับ-ส่งข้อมูลหนาแน่นขึ้น และมีการปล่อย Hotspot (ที่มักเป็นคลื่น 2.4) จำนวนมาก
อ้างอิงข้อมูลจาก
- PostToday: https://www.posttoday.com/social/general/555696
- ThaiPBS: http://news.thaipbs.or.th/content/272980
- Manager Online: https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9610000063302
- @Saran2530 Twitter: https://twitter.com/Saran2530/status/1011268824795004928?s=19
- ประชาชาติ: https://www.prachachat.net/ict/news-180450
- กรุงเทพธุรกิจ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/805985
- ภาพประกอบหัวข่าว: Sanook.com